posttoday

หนี้เสียเอสเอ็มอีพุ่งพรวด

10 สิงหาคม 2560

ธนาคารทหารไทย คาดเอ็นพีแอลเอสเอ็มอีพุ่งสูงสุดสิ้นปีนี้ เหตุกำลังซื้อยังไม่กระเตื้อง

ธนาคารทหารไทย คาดเอ็นพีแอลเอสเอ็มอีพุ่งสูงสุดสิ้นปีนี้ เหตุกำลังซื้อยังไม่กระเตื้อง

นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย เปิดเผยว่า กำลังซื้อและการบริโภคยังไม่ดี ซึ่งมีผลกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยตรง ถือเป็นความเสี่ยงที่ส่งผล กระทบต่อเอสเอสเอ็มอีไปจนถึงสิ้นปี 2560 จากเดิมประเมินว่าความเสี่ยงจะสิ้นสุดในครึ่งปีแรก

ทั้งนี้ คาดว่าจะทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของลูกค้าเอสเอ็มอี อาจจะปรับขึ้นไปสูงสุด 4.6-4.7% ของเอ็นพีแอลรวมในสิ้นปีนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดจากระดับ 4.4% ในไตรมาสแรก แต่คิดว่าน่าจะไม่ถึง 5% เพราะสถาบันการเงินมีการดูแลความเสี่ยงและระมัด ระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ส่งผลให้สินเชื่อกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีในปีนี้จึงอาจขยายตัวได้ไม่มาก แม้ว่าเอสเอ็มอีจะมีความต้องการสินเชื่ออยู่ก็ตาม แต่การ มีเครื่องมือจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมค้ำประกันช่วย ลดข้อจำกัดเรื่องสภาพคล่องได้บ้าง

"ปี 2561 เอ็นพีแอลจะเริ่มทยอยลดลงเมื่อการบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัวขึ้นจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น โดยวัฏจักร เอ็นพีแอลปกติจะอยู่ประมาณ 2 ปี แต่รอบนี้เกิด 2 วัฏจักรต่อเนื่องกัน คือ เอ็นพีแอลของรายย่อยในกลุ่มเช่าซื้อเกิดตั้งแต่ปี 2556 พอกลุ่มนี้เริ่มดีขึ้น ปัญหาเอ็นพีแอลในกลุ่มเอสเอ็มอีก็เข้ามาต่อเป็นลูกโซ่" นายเบญจรงค์ กล่าว

นายเบญจรงค์ กล่าวว่า สำหรับผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเอสเอ็มอีในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา พบว่า ความเชื่อมั่นด้านรายได้และด้านต้นทุนยังไม่ดีขึ้น ทั้งในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 39.6 จาก 40.6 และในอนาคต 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 48.8 ทรงตัวจาก 49.4 ในไตรมาสก่อน เนื่องโดยช่องว่างของดัชนีปัจจุบันและอนาคตแคบลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนแนวโน้มความเชื่อมั่นที่ลดลง

สำหรับปัจจัยกังวล 3 อันดับแรก คือ ด้านภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อ รองลงมาด้านสภาพคล่องและด้านขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในด้านแรงงานที่มีความกังวลเพิ่มขึ้น จากไตรมาสแรกที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 222-273 บาท เป็น 300-310 บาท ตามด้วยในไตรมาส 2 ประกาศ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานฉับพลัน จากกรณีแรงงานเดินทางกลับประเทศ ผลักให้ต้นทุนแรงงานสูงขึ้นเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามเอสเอ็มอีที่เป็นนิติ บุคคล มีระดับความเชื่อมั่นด้านรายได้มากกว่าเอสเอ็มอีที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นผลมาจากความสามารถบริหารจัดการที่ดีกว่าแม้ต้นทุนใกล้เคียงกัน

"เอสเอ็มอีที่เป็นบุคคลธรรมดา ควรบริหารกิจการแบบนิติบุคคล ซึ่ง การจัดการที่ดีได้ประโยชน์อย่างน้อย 4 ด้าน คือสร้างรายได้และลดค่าใช้จ่ายมีประสิทธิภาพ สร้างความน่าเชื่อถือแก่ธุรกิจให้คู่ค้าเห็น เข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น และได้ประโยชน์จากนโยบายสนับสนุนของรัฐบาล" นายเบญจรงค์ กล่าว

นายเบญจรงค์ กล่าวว่า ธนาคารเตรียมปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศจากเดิม 3.3% โดยประมาณการใหม่อยู่ในกรอบ 3.3-3.7% มีแนวโน้มปรับเพิ่มตัวเลขส่งออกจาก 3.7% เป็น 4-5%