posttoday

รัฐถกช่วยเอสเอ็มอี12ก.ค.

11 กรกฎาคม 2560

"สมคิด" นั่งหัวโต๊ะ 12 ก.ค.นี้ ถกส่งเสริมเอสเอ็มอี ด้านหอการค้าไทยเตรียมเสนอออกใบอนุญาตค้าปลีก-ส่งจบจุดเดียว

"สมคิด" นั่งหัวโต๊ะ 12 ก.ค.นี้ ถกส่งเสริมเอสเอ็มอี ด้านหอการค้าไทยเตรียมเสนอออกใบอนุญาตค้าปลีก-ส่งจบจุดเดียว

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 12 ก.ค.นี้ จะมีการประชุมของคณะทำงานด้านการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและวิสาหกิจเริ่มต้น (SME & Startup) หรือคณะประชารัฐ D2 ซึ่งเป็น 1 ใน 12 คณะประชารัฐ มีนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวจะมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม สำหรับประเด็นการหารือหลักๆ คือ เรื่องแผนงานและความคืบหน้าส่งเสริมเอสเอ็มอี การส่งเสริมเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเอสเอ็มอี รวมถึงรายงานและหารือผลกระทบจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว

นายกลินท์ กล่าวว่า ในส่วนของหอการค้าไทยจะมีการนำเสนอในที่ประชุมให้มีการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จจบจุดเดียว (วันสต็อปเซอร์วิส) เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจให้มากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ ภาคเอกชนโดยหอการค้าไทยเคยเสนอให้มีการปรับปรุงมาแล้วในการรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงเรื่องการออกใบอนุญาตค้าปลีก-ค้าส่ง แต่เรื่องได้เงียบไป จึงอยากจะเสนอประเด็นนี้ในที่ประชุมอีกครั้ง เพื่อให้เร่งหาทางปลดล็อก

นอกจากนี้ การจัดตั้งศูนย์ออกใบอนุญาตแบบจุดเดียวจบ ด้วยการดึงระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยตรวจสอบข้อมูลในแต่ละขั้นตอนก็จะช่วยลดปัญหาการคอร์รัปชั่นในการพิจารณาออกใบอนุญาตได้อีกทาง อย่างไรก็ดี เป้าหมายการทำงานของคณะประชารัฐกลุ่ม D2 คือ การเพิ่มรายได้และสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ได้ 50% ของจีดีพีประเทศภายในปี 2563 ทำให้มูลค่าการส่งออกของเอสเอ็มอีขยายตัวเพิ่มขึ้น 5% ต่อปี และส่งเสริมเอสเอ็มอีให้เข้าสู่ระบบอย่างน้อย 5 หมื่นราย/ปี

"ที่ผ่านมาประเทศไทยได้พยายามแก้ไขและปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจมากขึ้น เช่น ลดระยะเวลาจัดตั้งธุรกิจจากเดิมใช้ 25 วัน เหลือ 2-3 วัน การขออนุญาตก่อสร้างจาก 30 วัน เหลือ 15 วัน ซึ่งหากทำศูนย์วันสต็อปเซอร์วิส จะช่วยลดเวลาในการขอใบอนุญาตของผู้ประกอบการการค้าปลีก-ค้าส่งที่ต้องขอใบอนุญาตรวมกันมากกว่า 36 ใบ ทำให้เกิดการลงทุนในการทำธุรกิจเร็วขึ้น รวมทั้งยังทำให้อันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจของประเทศขยับสูงขึ้นเป็นผลพลอยได้" นายกลินท์ กล่าว

ทั้งนี้ ยังเป็นการช่วยปลดล็อกการลงทุนในภาคเอกชนให้เกิดเร็วขึ้น จากที่คุยกับภาคเอกชนพบว่า มีผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ และกลุ่มสตาร์ทอัพจำนวนมากที่สนใจจะลงทุนในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ซึ่งหากการขอใบอนุญาตสะดวกขึ้นก็จะเกิดการลงทุนมากขึ้น และเกิดการค้าขายมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ