posttoday

Apple Pay กับเทรนด์การช็อปปิ้ง

17 มิถุนายน 2560

ในงานประชุมประจำปีของแอปเปิ้ล ที่เพิ่งจัดไปเมื่อวันที่ 5-9 มิ.ย.ที่ผ่านมา แอปเปิ้ลเปิดตัวสินค้าใหม่หลายรายการ ซึ่งก็มีของชวนเสียเงินทั้งนั้น

โดย...เอกศาสตร์ สรรพช่าง ภาพ : รอยเตอร์ส

 ในงานประชุมประจำปีของแอปเปิ้ล ที่เพิ่งจัดไปเมื่อวันที่ 5-9 มิ.ย.ที่ผ่านมา แอปเปิ้ลเปิดตัวสินค้าใหม่หลายรายการ ซึ่งก็มีของชวนเสียเงินทั้งนั้น

 ทั้ง iMac Pro ที่มาพร้อมประสิทธิภาพแบบ Work Station แต่ออกแบบเป็น iMac หน้าตาสวยงาม (และราคาที่สามารถดาวน์รถได้) หรือการประกาศออก iPad Pro ตัวใหม่ซึ่งหน้าจอใหญ่ขึ้นและทำงานได้ใกล้เคียงกับคอมพิวเตอร์มากขึ้น รวมถึงการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่แกะกล่องอย่าง HomePod ที่สามารถใช้ได้ทั้งฟังเพลงและเชื่อมต่อกับโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตเพื่อใช้งาน Siri พร้อมทั้งประกาศระบบปฏิบัติการใหม่ที่จะมาถึงในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้อย่าง iOS 11 และ MacOS High Sierra

 ฟังก์ชั่นหนึ่งที่น่าสนใจแต่คนไทยอาจไม่ได้ตื่นเต้นกับมันมากนัก เพราะในประเทศไทยยังใช้ไม่ได้ก็คือ Apple Pay เป็นบริการชำระค่าบริการและซื้อสินค้าผ่านทางบัตรเครติดที่ผูกไว้กับไอโฟนของเรานั่นเอง

 แอปเปิ้ลเปิดตัวบริการนี้มาได้ 2 ปีในอเมริกา มีร้านค้าที่รองรับการใช้งาน Apple Pay มากมายแล้วครับ ทั้งสะดวกรวดเร็วและใช้งานง่าย ใน iOS 11 มีฟังก์ชั่นที่เพิ่มเข้ามา และผมชอบมากคือ การโอนเงินแบบเล็กๆ น้อยๆ ให้เพื่อนผ่าน iMessage เวลาไปกินข้าวแล้วไม่ได้ถือเงินไป ต้องการแชร์กันออกค่าอาหาร ช่องทางนี้จะสะดวกและง่ายกว่า เมื่อเทียบกับการโอนเงินผ่าน Online Banking ที่ต้องไล่ขอเลขที่บัญชีของทุกคน วิธีการใหม่คือ ส่งผ่าน iMessage ได้เลย

 ในบ้านเราจริงๆ บริการพร้อมเพย์ก็น่าจะทำได้ แต่ยังมีผู้ใช้บริการอีกมากที่ไม่ค่อยมั่นใจในเรื่องของความปลอดภัยเท่าไหร่ เลยยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร จริงๆ การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางเหล่านี้มีประโยชน์หลายอย่าง ทั้งกับตัวเราเอง กับธนาคาร และทั้งกับโลกของเรา

 ที่บอกว่าดีกับโลก ก็เพราะว่าทุกครั้งที่เราใช้จ่ายด้วยเงินสด มันมีต้นทุนของทรัพยากรที่เรานึกไม่ถึง เช่น ต้นทุนการผลิตเหรียญ ซึ่งต้องใช้การหลอมแร่ ต้นทุนเรื่องการเก็บ การขนส่ง การถ่ายโอนหรือการทอนเงิน ทั้งหมดเป็นต้นทุน วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตเหล่านี้ เช่น เหรียญกษาปณ์ 1 บาท เมื่อรวมต้นทุนเหล่านี้ ทั้งค่าผลิต ค่าขนส่ง ทั้งกระบวนการอาจแพงกว่ามูลค่าของตัวมันเองด้วยซ้ำ

 ฉะนั้น แนวโน้มใหม่ของระบบการเงินของโลกในอีกไม่เกิน 5 ปีนี้ คือความพยายามชักจูงผู้บริโภคให้หันไปใช้การทำธุรกรรมผ่านบัตรเครติดหรือเงินออนไลน์มากขึ้น เพราะลดต้นทุนได้ในระยะยาว ควบคู่ไปกับการสร้างความน่าเชื่อถือเรื่องระบบความปลอดภัย

 มีการประเมินกันในประเทศที่นิยมใช้บัตรเครติดหรือเงินออนไลน์อย่างในสหรัฐ พบว่า สามารถลดต้นทุนของประเทศที่ต้องมาจัดการเรื่องเหล่านี้ได้มากถึง 25% ข้อดีอีกอย่างก็คือ การใช้จ่ายผ่านออนไลน์ ทั้งธนาคาร และผู้ให้บริการ ร้านค้า สามารถทราบพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ด้วย เช่น ยอดการใช้จ่ายแต่ละครั้ง ความถี่ในการใช้งาน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ทั้งแบรนด์ ทั้งธนาคารและผู้ให้บริการอย่างแอปเปิ้ล สามารถใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์ใช้งานได้ต่อ

 ตอนนี้บ้านเราความนิยมเรื่องการใช้เงินผ่านออนไลน์ก็มากขึ้นเรื่อยๆ นะครับ ส่วนหนึ่งก็มาจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป รวมถึงการทำงานหลังบ้านของธนาคารที่ทำให้ต้นทุนเรื่องเหล่านี้ลดลง การทำ Local Switching หรือการรับส่งข้อมูลการหักบัญชีที่ใช้จ่ายในประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ทำให้ต้นทุนที่เคยสูงนั้นถูกลงมาก

 อนาคตก็จะมีการร่วมมือกันในแบบที่เป็นเขตการค้าก็อาจยิ่งทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น แต่ก็ต้องระวัง เพราะการจะเปลี่ยนอะไรแบบหน้ามือเป็นหลังมือเหมือนอย่างที่อินเดียพยายามจะลดการใช้ธนบัตรแบบชั่วข้ามคืน อาจให้ผลเสียมากกว่าผลดี

 มารอลุ้นครับว่า รอบนี้เมืองไทยจะได้ใช้ Apple Pay กันไหม