posttoday

สร้างเอสเอ็มอีสู่4.0

09 สิงหาคม 2559

กลุ่มซ็นทรัลพัฒนา จัดงาน “เอสเอ็มอี ธิงค์บิ๊ก#คิดให้ใหญ่ ไปได้ไกล กับกลุ่มเซ็นทรัล” เปิดโอกาสเอสเอ็มอีจับคู่ธุรกิจกับ 5 บริษัท รวม 9 แบรนด์ ในเครือเซ็นทรัล

โดย...วราภรณ์ เทียนเงิน

กลุ่มบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา ได้จัดงาน “เอสเอ็มอี ธิงค์บิ๊ก#คิดให้ใหญ่ ไปได้ไกล กับกลุ่มเซ็นทรัล” เปิดโอกาสเอสเอ็มอีจับคู่ธุรกิจกับ 5 บริษัท รวม 9 แบรนด์ ในเครือเซ็นทรัล โดยมีผู้ประกอบการ นักธุรกิจ และเอสเอ็มอี รวมถึงผู้สนใจเข้ามาร่วมงานจำนวนมาก

ทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า เอสเอ็มอีเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศไทย ประเทศไทยจะเจริญไม่ได้ รายได้ก็จะไม่ดี ถ้าเอสเอ็มอีไม่เติบโต โดยทุกวันนี้ถือเป็นยุคทองของเอสเอ็มอี ซึ่งทุกวันนี้ตลาดเอสเอ็มอีโตขึ้นมาก ทั้งเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อีกทั้งตลาดเปลี่ยนไป เทคโนโลยีก็เปลี่ยน โดยภาคเอกชน บริษัทเล็กใหญ่ และสถาบันการเงิน ทุกคนมองเห็นตรงกันหมดว่า เอสเอ็มอีเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องช่วยผลักดัน ทำให้ประเทศชาติเติบโต

ทั้งนี้ กลุ่มเซ็นทรัลพร้อมนำประสบการณ์ในธุรกิจค้าปลีกกว่า 60 ปี เพื่อช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงช่องทางจำหน่ายกว่า 1,300 จุด ทั้งในและต่างประเทศ ช่องทางร้านค้าปลีก ทั้งห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ออนไลน์ เป็นต้น

สุวิทย์ เมษินทรีย์” รมช.พาณิชย์ ปาฐกถาพิเศษในงานหัวข้อ “เอสเอ็มอี คิดการใหญ่” ว่า ผู้ประกอบการในประเทศไทยจะต้องปรับธุรกิจเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ที่โลกมีการเปลี่ยนแปลง และรูปแบบเศรษฐกิจของประเทศก็เปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยต้องเน้น 4 เรื่องใหญ่ที่สำคัญ ทั้ง 1.การรวบรวมภูมิปัญหาของมหาชน จะต้องระดมสมอง การรวบรวมงานวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมสร้างธุรกิจให้แข็งแกร่ง

2.การทำธุรกิจที่มุ่งตอบโจทย์ของผู้บริโภค ที่ต้องร่วมมือกับผู้บริโภคและคิดในมุมมองของผู้บริโภค โดยผู้ประกอบการจะต้องเป็นทั้งผู้บริโภค (คอนซูเมอร์) และผู้ผลิตสินค้า (โปรดักต์) หรือที่เรียกว่า โปรซูเมอร์ จากเดิมที่ผู้ประกอบการจะมองในมุมมองของโปรดักต์เพียงด้านเดียว 3.การสร้างเครือข่ายการทำงาน ทั้งการเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ การร่วมมือสร้างสรรค์ และการทำธุรกิจด้วยการแบ่งปัน และ 4.การคำนึงถึงนวัตกรรมการเงินในรูปแบบต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และมีผลต่อธุรกิจ

ขณะเดียวกัน รัฐบาลกำลังผลักดันประเทศไทยก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อให้ทุกส่วนของประเทศเติบโตไปด้วยกัน และมีความเข้มแข็งไปด้วยกัน มีความเกี่ยวข้องกับทุกคน ซึ่งอุตสาหกรรม 4.0 ถอดรหัสมาจากคำพูดของนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า เราจะต้องเติบโตไปด้วยกัน และไม่ทิ้งคนข้างหลัง จึงนำไปสู่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ 2 ด้าน ทั้งการสร้างการเติบโตภายในเพื่อเชื่อมโยงกับตลาดโลก หมายถึง ที่ผ่านมาประเทศไทยพึ่งพาการส่งออก และไม่ได้ดูศักยภาพของประเทศที่แท้จริง แต่จริงๆ แล้วต้องดูว่า เอสเอ็มอีที่เป็นแม่ทัพขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยมีความแข็งแรงจริงๆ หรือไม่

ประเทศไทย 4.0 หัวใจสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงรากแขนง สู่รากแก้ว หรือการสร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่เป็นรากแก้ว สร้างผู้ประกอบการที่เป็น สมาร์ทเอสเอ็มอี หรือสมาร์ท เอนเตอร์ไพรส์ (Smart Enterprise) ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศต้องการอุตสาหกรรมใด จะให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ดึงนักลงทุนมาลงทุน ทำให้เอสเอ็มอีกลายเป็นเอสเอ็มอีที่ไม่มีรากของตัวเอง หรือเป็นลักษณะปักชำ แต่เอสเอ็มอี 4.0 ต้องทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยเข้าสู่ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยองค์กรนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise) พร้อมเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ต่อมาคือ ผู้ประกอบการต้องมีการบริหารจัดการในองค์กร การมีเทคโนโลยี การมีปัญญา และการผนึกความร่วมมือในรูปแบบเครือข่ายผลิต เชื่อมโยงผนึกรายใหญ่ผลิตที่เชื่อมโยงสู่ตลาดโลก หรือที่รัฐบาลและเอกชนกำลังร่วมมือทำโครงการพี่ช่วยน้อง

“อยากให้ทุกคนเปลี่ยนตัวเอง เดิมทำมาก แต่มาร์จิ้นเท่าเดิม หรือทำมากได้น้อย แต่สาระสำคัญของหัวใจ 4.0 คือ ทำน้อยได้มาก โดยต้องเติมทั้งเรื่อง บริหารจัดการ เทคโนโลยี ปัญญา กำลัง และการผนึกกำลังของเอสเอ็มอีรายใหญ่เชื่อมโยงสู่ตลาดโลก” สุวิทย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยจะก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้นั้น จะต้องขึ้นอยู่กับว่าคนในประเทศเป็น 4.0 หรือไม่ และอยู่ที่ประเทศมีเอสเอ็มอี 4.0 หรือไม่ ตอนนี้จึงถึงเวลาเอสเอ็มอีต้องตระหนักถึงความสำคัญของตัวเอง เราเป็นกองทัพเศรษฐกิจที่แท้จริง และธุรกิจในขณะนี้กำลังอยู่ในจุดใด โดยปัจจุบันในประเทศมีเอสเอ็มอีที่เป็นเทิร์นอะราวด์ และไปไม่ไหวจำนวนมาก ซึ่งในเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีกำลังมีแผนผลักดันเพื่อกู้เอสเอ็มอีกลุ่มดังกล่าวทำให้ไปต่อให้ได้ ส่วนเอสเอ็มอีที่ไปได้แล้ว หรือเรกูลาร์ ต้องทำให้เติบโตแบบยั่งยืน และก้าวสู่องค์กร ธุรกิจที่มีนวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจ

ขณะเดียวกัน จากการหารือกับ เจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่ง ส.อ.ท. ระบุว่า เอสเอ็มอีในไทยแบ่งเป็น เอสเอ็มอี 2.0 มีสัดส่วน 35% เอสเอ็มอี 2.5 มีสัดส่วน 35% เอสเอ็มอี 3.0 มีสัดส่วน 25% เอสเอ็มอี 3.5 มีสัดส่วน 3-4% และเอสเอ็มอีที่ก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 แล้วมีไม่ถึงสัดส่วน 1% ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันทำงาน เพื่อผลักดันให้ภายใน 5 ปีข้างหน้า เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ จะต้องเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 และพร้อมแข่งขันในตลาดโลก

ส่วนการเปลี่ยนแปลง 4 ทิศทางที่กำลังเกิดขึ้นผู้ประกอบการต้องพร้อมปรับตัวทั้งการก้าวสู่นวัตกรรม ที่ผ่านมาไทยติดกับดัก เรื่อง สร้างสินค้าที่มีนวัตกรรม แต่เรื่องสำคัญคือ มีนวัตกรรมในกระบวนการผลิต (Process Innovation) และปรับระบบผลิตแบบดิจิทัล 2.การเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ การเชื่อมโยงความร่วมมือ สร้างเครือข่ายการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หรือที่ภาครัฐและเอกชนทำโครงการพี่ช่วยน้อง 3.การทำให้ลดการสูญเสียของในองค์กรน้อยที่สุด หรือกลายเป็น สมาร์ท เอสเอ็มอี และ 4.ปรับแนวคิดของผู้ประกอบการใหม่ เดิมมุ่งแต่ความคิดจากตัวเราเอง ต้องปรับสู่ คำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม และทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง

“สุวิทย์” กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอนาคต ต้องตระหนักทั้งเรื่องการเป็น ดิจิทัล แพลตฟอร์ม (Digital Platform) การเปลี่ยนมุมมองธุรกิจสู่ โกลบอล แลนด์สเคป (Global Landscape) การสร้างสิ่งแตกต่างและวัฒนธรรมใหม่ในองค์กร ไม่มุ่งแต่การลอกเลียนแบบ การสร้างธุรกิจใหม่แตกต่างและคิดนอกกรอบ พร้อมเป็นองค์กรที่สามารถรับมือกับโอกาสและความท้าทายใหม่ และผลักดันออกมาสู่ธุรกิจใหม่ได้ อีกทั้งผู้ประกอบการต้องพร้อมนำบทเรียนทางธุรกิจใหม่มาใช้ในองค์กร

สุดท้าย เอสเอ็มอีจะต้องคิดให้ใหญ่ และไปให้ถึง