posttoday

สสว.ก้าวสู่สภาพัฒน์ของเอสเอ็มอีไทย

26 กันยายน 2557

สสว. ได้ย้ายมาอยู่ที่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี จะทำให้การทำงานของ สสว.มีความกระชับขึ้น

โดย...วราภรณ์ เทียนเงิน

เปิดใจ “วิมลกานต์ โกสุมาศ” รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ภายหลังที่ สสว. ได้ย้ายมาอยู่ที่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี จะทำให้การทำงานของ สสว.มีความกระชับขึ้น มีพลังในการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานส่งเสริมเอสเอ็มอี มีความรวดเร็ว ทำให้การบูรณาการข้อมูลร่วมระหว่างภาครัฐที่ดีขึ้น

พร้อมกันนี้จะส่งผลให้บทบาทของ สสว.มีข้อมูลครบถ้วนรอบด้าน กลายเป็นหน่วยงานที่มีรูปแบบคล้ายกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ที่พร้อมชี้แนะนำแนวทาง วางนโยบายเอสเอ็มอีของประเทศไทยทั้งหมด โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการบริหารเอสเอ็มอีสูงมาก และวางให้เอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ เพราะเอสเอ็มอีถือเป็นกระดูกสันหลังของประเทศและระบบเศรษฐกิจ

ขณะที่ยุทธศาสตร์หลักในการขับเคลื่อนธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้อนุมัติแล้ว 4 ยุทธศาสตร์ จากคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ได้แก่ 1.การบูรณาการจัดการภาครัฐเพื่อส่งเสริมเอสเอ็มอีให้มีประสิทธิภาพ ทำให้มีการวางระบบฐานข้อมูลเอสเอ็มอีใหม่ โดยเฉพาะจัดทำข้อมูลเอสเอ็มอีที่มีอยู่ 2.7 ล้านราย มีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล 3-4 แสนราย จึงมีเอสเอ็มอีจำนวนมากไม่ได้เข้ามาระบบ เพื่อให้การส่งเสริมเป็นรายกลุ่มธุรกิจ (เชคเตอร์) ได้ถูกต้อง

ยุทธศาสตร์2 การส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอีตามวงจรธุรกิจ ทั้งการจัดตั้งศูนย์ให้บริการเอสเอ็มอีครบวงจรใน 5 ภูมิภาค จะเปิดตัวให้บริการในปีหน้า จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ทางธุรกิจเอสเอ็มอีออนไลน์ ที่แนะนำตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจ ขยายธุรกิจ ฟื้นฟูธุรกิจ และการปรับธุรกิจเมื่อประสบปัญหา การจัดทำ SME National Champion เป็นครั้งแรก เพื่อคัดเลือกเอสเอ็มที่มีความสามารถสูงออกไปทำตลาดต่างประเทศ เชื่อมั่นว่าภายใน 10 ปี เอสเอ็มอีกลุ่มดังกล่าวจะเพิ่มมูลค่าส่งออกได้

ยุทธศาสตร์ 3 การเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าเอสเอ็มอี ด้วยการจัดตั้ง 1 มหาวิทยาลัยและอาชีวะ เป็นเครือข่ายช่วยเอสเอ็มอีแต่ละพื้นที่ ร่วมมือกับหน่วยงานด้านนวัตกรรม เพื่อทำเนียบผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงข้อมูล

ยุทธศาสตร์ที่ 4 เชื่อมโยงเครือข่ายภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เอสเอ็มอีรวมกลุ่มเป็นสมาคมต่างๆ พร้อมกับจัดงานเอเชียน เอสเอ็มอี เอ็กซ์โป เริ่มครั้งแรกปีหน้า ที่นำผู้ประกอบการอาเซียน และอาเซียน+6 มาร่วมงาน การจัดทำข้อมูลเอสเอ็มอีอาเซียน เพื่อให้ทั่วโลกใช้ฐานข้อมูลเอสเอ็มอีอาเซียนที่ประเทศไทย

สสว.ก้าวสู่สภาพัฒน์ของเอสเอ็มอีไทย

ทางด้านข้อเสนอการจัดตั้งทบวงเอสเอ็มอี จะต้องอยู่ที่รัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องนี้ แต่เชื่อมั่นว่า การปรับงานบูรณาการหน่วยงานภาครัฐในการทำงานร่วมเอสเอ็มอีใหม่ จะส่งผลดีต่อการบริหารและวางนโยบายของเอสเอ็มอีไทยได้เป็นอย่างดี

พร้อมกันนี้ สสว.ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในอาเซียน ทั้งการจัดทำ ASEAN SME Service Center เพื่อนำเสนอข้อมูลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอาเซียน การจัดทำดัชนีชี้วัดเชิงนโยบายในการพัฒนาอาเซียน การจัดประชุม ASEAN Advisory Board เพื่อร่วมกำหนดนโยบายพัฒนาเอสเอ็มอี ซึ่งไทยจะจัดตั้ง Thai SME Advisory Board หรืออาจเป็น สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เพื่อร่วมกำหนดนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้ประกอบกราในไทยอาเซียน

จึงคาดว่าการประชาเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เป็นโอกาสที่ดีแก่เอสเอ็มอีไทย โดยผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวเองใหม่ หันมาร่วมมือสร้างเครือข่ายอาเซียน เพื่อใช้วัตถุดิบแต่ละประเทศในอาเซียน ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ส่วนสินค้าไทยที่มีโอกาสขยายตลาดในอาเซียนได้แก่ สินค้าความงาม อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค ที่ผู้บริโภคในอาเซียนชื่นชอบแบรนด์สินค้าไทยสูงสุด

ในปีนี้เอสเอ็มอีไทยจะมีอัตราการขยายตัว (จีดีพี) ประมาณ 2-2.5% ใกล้เคียงกับจีดีพีของประเทศ ส่วนในปีหน้าคาดว่า จีดีพีเอสเอ็มอีจะขยายตัว 4-4.5%

เชื่อมั่นว่าจากแผนยุทธศาสตร์ทั้งหมดจะเป็นการวางนโยบาย พัฒนาเอสเอ็มอี ในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ทำให้มีโครงสร้างแข็งแกร่ง ก้าวสู่เอสเอ็มอีที่มีประสิทธิภาพ และเป็นเอสเอ็มอีที่จะเติบโตได้ดีในอนาคต รวมทั้ง สามารถเป็นเอสเอ็มอีไทยสามารถผลิตสินค้าได้คุณภาพสูง และเป็นสินค้าที่ทั่วโลกต้องการ