posttoday

ชาวนาไทยรุ่นใหม่ปลูกข้าว"ญี่ปุ่น"นำเทรนด์ตลาด

27 ธันวาคม 2556

ถือเป็นอีกหนึ่งชาวนาไทยตัวอย่าง ที่มุ่งการปลูกข้าวให้มีคุณภาพสูง และพัฒนาข้าวที่ปลูกให้มีมูลค่าเพิ่มอย่างสูงสุด

โดย....วราภรณ์ เทียนเงิน

จากนโยบายของรัฐบาล ที่เดินหน้าโครงการรับจำนำข้าว ส่งผลกระทบต่อธุรกิจข้าวไทยในทุกระดับ และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้เกษตกรไทยจาก จ.เชียงราย ต้องเปลี่ยนแนวทางการปลูกข้าวใหม่ หันมาปลูกข้าวญี่ปุ่น เพราะเป็นข้าวที่มีคู่แข่งในตลาดน้อยราย และที่สำคัญยังมีราคาสูง เป็นที่ต้องการในตลาดอย่างมาก

“สุทิน กองทอง” เจ้าของโรงสีเกริก ที่ได้มุ่งปลูกข้าวสายพันธุ์จากประเทศญี่ปุ่น เพราะมีอาจารย์จาก มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้นำเข้าข้าวสายพันธุ์ใหม่จากประเทศญี่ปุ่น มาทดลองปลูกในพื้นที่ ทำให้สนใจหันมาปลูกข้าวญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ในบริเวณ ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมือง จ.เชียงรายแล้ว พันธุ์ “อะคิตะโคมาชิ”

ความแตกต่างของข้าวญี่ปุ่น คือ ต้องให้ความดูแลสูงมาก และดูแลอย่างเต็มที่ เพราะเมื่อนำมาปลูกในไทย จะมีความอ่อนไหวสภาพอากาศในไทย จึงต้องดูแลเป็นพิเศษในทุกขั้นตอน และสิ่งจำเป็นคือ ต้องมีความเข้าใจในการปลูกข้าวด้วย โดยข้าวญี่ปุ่นจะสามารถปลูกได้ใน 2 ครั้งต่อปี และแตกต่างจากข้าวไทยคือ เมื่อเกี่ยวข้าวแล้ว ต้องนำเข้าโรงอบข้าว ภายใน 24 ชั่วโมงทันที

โดยเมื่อได้หันมาปลูกข้าวญี่ปุ่นอย่างจริงจังในปี 2550 หลังจากนั้น จึงมีแผนขยายการปลูกในพื้นที่เพิ่มขึ้น โดยมีเกษตรกรในพื้นที่พร้อมหันมาปลูกข้าวญี่ปุ่น ส่งข้าวให้แก่โรงสีเกริกเป็นเครือข่ายการผลิตร่วมกัน ในปัจจุบันมีจำนวน 500-600 ครอบครัว รวมพื้นที่ประมาณ 4,000 ไร่ จากจำนวนเกษตรกรที่ปลูกทั้งหมด ซึ่งการให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวญี่ปุ่นนั้น ต้องแนะนำ พร้อมให้ความรู้ และให้คำปรึกษาอย่างเต็มที่

“ข้าวญี่ปุ่นมีความอ่อนไหวต่อทั้งอากาศ แสงแดง และภูมิอากาศมาก หากอากาศเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มีผลต่อการปลูกทันที ข้าวญี่ปุ่นชอบอากาศที่เย็น จึงเหมาะกับการปลูกในพท้นที่ภาคเหนือมากที่สุด”นายสุทิน กล่าว

ชาวนาไทยรุ่นใหม่ปลูกข้าว"ญี่ปุ่น"นำเทรนด์ตลาด

โดยเมื่อผ่านมา 5 ปีที่ผ่านมา ได้ผลผลิตรวมของโรงสีเกริก ประมาณ 1,500-2,000 ตันต่อปี มีราคาขายเฉลี่ยที่ 40-42 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งมุ่งเจาะตลาดกลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยที่มีจำนวนมาก และมีความต้องการสูงในทุกปี ซึ่งมูลค่าตลาดรวมข้าวญี่ปุ่นอยู่ที่ 8,000-10,000 ตันต่อปี มีแหล่งปลูกสำคัญอยู่ที่ จ.เชียงราย เชียงใหม่

แต่ในปีนี้การปลูกข้าวญี่ปุ่นในประเทศไทยกำลังประสบปัญหา มีบริษัทเอกชนไทยที่ส่งออกข้าวรายใหญ่ นำเข้า ข้าวราคาถูกจากประเทศเวียดนาม เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย กระทบต่อผู้ปลูกข้าวญี่ปุ่นในไทย ที่เป็นตลาดกลางและล่างพอสมควร ดังนั้น ทำให้มีความจำเป็นต้องรวมกลุ่มกับเกษตรกรไทยที่ปลูกข้าวญี่ปุ่น จัดตั้งเป็น “ชมรมผู้ประกอบการข้าวญี่ปุ่นแห่งประเทศไทย” มีสมาชิกประมาณ 11 ราย เพื่อจะกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาการปลูกข้าวญี่ปุ่นในไทย เพื่อให้มีต้นทุนถูกลง และมีราคาที่แข่งขันกับข้าวจากเวียดนามได้

ซึ่งข้าวญี่ปุ่นจากประเทศเวียดนามแม้จะมีราคาถูก แต่มีคุณภาพที่ต่ำกว่าจากไทย โดยข้าวญี่ปุ่นที่ปลูกในไทยจะมีความพิเศษในด้าน มีเมล็ดใหญ่ และมีเหนียวหนึบ รสชาติดี มีสารอาหารสูง โดยเฉพาะวิตามินอีสูงมาก ดังนั้น หากชมรมหาแนวทางแนะนำผู้ประกอบการไทย ลดต้นทุนการผลิตแต่มีคุณภาพสูงเช่นเดิม ก็จะทำให้ข้าวญี่ปุ่นที่ปลูกในไทย มีราคาที่แข่งขันได้มากขึ้น และทำให้ปลูกข้าวของสมาชิกในกลุ่ม มุ่งปลูกข้าวที่มีคุณภาพสูงต่อไป

ขณะเดียวกันธุรกิจของโรงสีเกริก ก็ต้องมุ่งพัฒนาการปลูกข้าว และปรับการปลูกข้าวที่มุ่งปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ที่มีคุณภาพสูง และมีความต้องการในตลาดสูงเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันได้ขยายการปลูกไปยัง ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมนิล ข้าวเหนียวดำ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เพราะตลาดโลกต้องการสูงมาก ซึ่งปัจจุบัน ยอดการผลิตทั้งหมดจะเป็นข้าวญี่ปุ่นประมาณ 70% ที่เหลือเป็น ข้าวไทย ประมาณ 30%

พร้อมกันนี้ยังให้คำแนะนำแก่ชาวนาที่ปลูกข้าวในเครือข่ายอย่างใกล้ชิด เพราะหากมีเทคโนโลยีการปลูกแบบใหม่ก็จะให้คำนแนะนำแก่ชาวนาทันที พร้อมกับสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่คือ หัวไวใจเร็ว ที่พร้อมปรับ พร้อมเรียนรู้เทคโนโลยีการปลูกแบบใหม่ เพื่อเป็นผู้นำให้คำแนะนำกับชาวนารายอื่นต่อไป ซึ่งปัจจุบันคนทำนาส่วนใหญ่จะมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ถือเป็นเรื่องที่น่าห่วงพอสมควร จึงจำเป็นที่ต้องเร่งสร้างชาวนารุ่นใหม่ พร้อมกับหาแนวทางลดต้นทุนให้มากที่สุด

ชาวนาไทยรุ่นใหม่ปลูกข้าว"ญี่ปุ่น"นำเทรนด์ตลาด

นอกจากนี้ โรงสีเกริกยังมุ่งบริหารจัดการภายใน ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งมุ่งดูแลแรงงานและพนักงานอย่างดี มีทั้งที่พัก อาหารให้แรงงาน 3 มื้อ มีการปลูกพืช เลี้ยงปลา รวมทั้งมีการปลูกข้าวอย่างครบวงจร ทั้งปลูกเอง เพาะปลูกเอง เก็บเกี่ยว และมีโรงสีของตัวเอง

อีกทั้งยังได้มุ่งต่อยอดข้าวที่มีอยู่ นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยเพื่อสุขภาพ โดยได้นำรำข้าว มาแปรรูปเป็นทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ภายใต้ชื่อ “ถาดทอง” เพราะข้าวมีคุณค่าอาหารสูง และมีประโยชน์ต่อร่างกาย เริ่มวางจำหน่ายแล้วผ่านเฟคบุ๊ค และเว็บไซด์ รวมทั้งสามารถไปเลือกซื้อสินค้าได้ที่โรงสีเกริก ที่ จ.เชียงราย โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ร่วมมือกับ สวทช.

“สุทิน” กล่าวทิ้งท้ายว่า การปลูกข้าวญี่ปุ่น แม้จะยากและเป็นเรื่องท้าท้ายที่จะมาปลูกในไทย แต่สามารถทำได้ ด้วยจิตใจมุ่งมั่นและตั้งใจเต็มที่ รวมทั้งเรียนรู้ร่วมกับนักวิชาการในมหาวิทยาลัย พร้อมกับไม่หยุดที่จะปรับตัวและพัฒนาการปลูกข้าว เพื่อมุ่งปลูกข้าวให้มีคุณภาพสูง ผลที่ผ่านมา จึงสามารถสร้าวรายได้ต่อปีมากกว่า 100 ล้านบาท

ถือเป็นอีกหนึ่งชาวนาไทยตัวอย่าง ที่มุ่งการปลูกข้าวให้มีคุณภาพสูง และพัฒนาข้าวที่ปลูกให้มีมูลค่าเพิ่มอย่างสูงสุด