posttoday

Siamclock โชว์ดีไซน์นาฬิกาข้อมือไม้สัก

05 มิถุนายน 2554

ใครจะคิดว่าไม้สักที่มีราคาแพง นอกจากนำไปแปรรูป ตกแต่งเป็นเฟอร์นิเจอร์หรู ราคาหลักหมื่นหลักแสนบาทแล้ว ยังสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุประกอบนาฬิกาข้อมือได้ด้วย....

ใครจะคิดว่าไม้สักที่มีราคาแพง นอกจากนำไปแปรรูป ตกแต่งเป็นเฟอร์นิเจอร์หรู ราคาหลักหมื่นหลักแสนบาทแล้ว ยังสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุประกอบนาฬิกาข้อมือได้ด้วย....

โดย...ชนิกา สุขสมจิตร

ใครจะคิดว่าไม้สักที่มีราคาแพง นอกจากนำไปแปรรูป ตกแต่งเป็นเฟอร์นิเจอร์หรู ราคาหลักหมื่นหลักแสนบาทแล้ว ยังสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุประกอบนาฬิกาข้อมือได้ด้วย แถมยังเป็นสินค้าที่ถูกใจชาวต่างชาติจนสามารถส่งออกไปยังหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา และกรีซ เป็นต้น

Siamclock โชว์ดีไซน์นาฬิกาข้อมือไม้สัก

ศิริวรรณ เหรียญทองชัย เจ้าของนาฬิกาข้อมือไม้สักแบรนด์ “Siamclock” หรือสยามนาฬิกา เล่าว่า ก่อนจะได้นาฬิการูปร่างหน้าตาอย่างที่เห็น ต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด ไล่ตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงเจาะลึกดูกลไกข้างในตัวเครื่อง โดยซื้อนาฬิกาของจริงมาแกะชิ้นส่วนออกให้เห็นแบบจะจะ เรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างจริงจัง

งานชิ้นแรกที่ได้ ทำขึ้นเป็นของขวัญให้กับเพื่อน กระทั่งพัฒนาฝีมือมาเรื่อยๆ จนมีโอกาสได้ส่งเข้าประกวดสินค้าโอท็อปของเขตเพชรเกษม กรุงเทพฯ ใช้ชื่อกลุ่มชุมชนซัน-สยามนาฬิกา และก็สมหวัง ได้รางวัลระดับสี่ดาว

หลังจากนั้นก็เริ่มทดลองผลิตในเชิงพาณิชย์ เพราะมีโอกาสได้ออกสื่อมากขึ้นจนเป็นที่รู้จัก โดยพัฒนาการดีไซน์นาฬิกาให้มีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ด้วยการนำไม้สักมาปรับแต่งในนาฬิกาข้อมือ นาฬิกากำไล สไตล์แอนทีก

ศิริวรรณ ย้ำว่า น่าจะเป็นรายเดียวในไทยตอนนี้ก็ว่าได้ เพราะการนำไม้สักมาใช้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยการเรียนรู้พอสมควร โดยเฉพาะการเลือกไม้สักต้องเป็นไม้สักเกรดดีที่ผ่านการอบมาแล้ว เพื่อไม่ให้มีปัญหาในเรื่องไม้แตกเวลาเจออากาศร้อน นอกจากนี้ตัวเรือนนาฬิกาจะสั่งผลิตรุ่นเดียวกับไซโก้ แต่เป็นเลขไทย เพื่อให้นาฬิกามีอายุการใช้งานได้นาน

ปัจจุบันสยามนาฬิกามีสินค้าให้เลือกกว่า 70 แบบ ทั้งตู้นาฬิกาไม้ ที่มีดีไซน์แตกต่างกันไป และนาฬิกาข้อมือที่ใช้เป็นเครื่องประดับ
ราคาสินค้าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 390-1,500 บาท แต่ไม่มีหน้าร้านของตัวเอง เน้นการรับผลิตตามคำสั่งซื้อหรือออร์เดอร์ โดยอาศัยคนในชุมชนเป็นแรงงานที่ช่วยผลิตให้ ขณะที่ ศิริวรรณ จะเป็นผู้สอนถ่ายทอดเทคนิคงานฝีมือที่เป็นงานไม้เหล่านี้โดยไม่หวงวิชา เพราะถือว่าเป็นการสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนเดียวกัน

Siamclock โชว์ดีไซน์นาฬิกาข้อมือไม้สัก

กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ศิริวรรณ เน้นว่า เป็นชาวต่างชาติส่วนใหญ่ ซึ่งจะพบปะ เจอะเจอกันในงานแฟร์ต่างๆ ที่มีโอกาสได้ไปออกงาน มีทั้งที่รับสั่งผลิตตามออร์เดอร์ ส่งออกไปต่างประเทศ ผู้สั่งจะนำไปติดแบรนด์ตัวเอง หรือสั่งซื้อตามแบบที่ทางสยามนาฬิกามีอยู่ ขึ้นอยู่กับความพอใจของลูกค้า ลูกค้าหลักตอนนี้คือ ญี่ปุ่น รองลงมาเป็นสหรัฐ ยุโรป

ศิริวรรณ กล่าวว่า ออร์เดอร์ตอนนี้ยังมีมาเรื่อยๆ แม้คนจะมองว่าเศรษฐกิจไม่ดี แต่สำหรับสินค้ากลุ่มนี้ไม่ได้รับผลกระทบอะไร โดยเฉพาะญี่ปุ่นเป็นลูกค้าผูกขาดจะชอบนาฬิกาไม้ตั้งโต๊ะมาก นอกนั้นก็เป็นประเภทนาฬิกาข้อมือไม้สัก เคยรับออร์เดอร์สูงสุด 5,000 เรือน/เดือน ก็มีมาแล้ว

ช่วงที่มีออร์เดอร์สูง คนในชุมชนทำไม่ทันก็มีจ่ายงานไปให้คนนอกชุมชนมารับไปทำต่อ แต่ก็ต้องเป็นคนที่เคยมาเรียนกับเราด้วย เพราะงานเหล่านี้ต้องอาศัยฝีมือและความประณีต เนื่องจากงานส่งออกควรจะเป็นมาตรฐานเดียกวัน

ในส่วนกลุ่มลูกค้าในประเทศ มีทั้งที่ขายปลีกตามงานแฟร์ หรือสั่งทำเป็นของที่ระลึกก็มีหลายครั้ง โดยเฉพาะงานระดับชาติสั่งทำเป็นของพรีเมียมแจกให้กับแขกวีไอพี ซึ่งก็ภูมิใจกับงานที่ผลิตออกมา เพราะอย่างน้อยก็บอกได้ว่าเป็นฝีมือของคนไทย

ขณะนี้ Siamclock เปิดตัวมาได้ 8 ปี แม้จะมีการเติบโตดี แต่กว่าจะถึงวันนี้ได้ก็เคยเจออุปสรรคเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงแรกของการส่งออกสินค้า เพราะ ศิริวรรณ เองไม่ได้ถนัดการค้าขายมากนัก อาศัยการเรียนรู้เปิดเว็บไซต์สะสมประสบการณ์ ทำให้มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่งเกือบต้องเลิกกิจการ โดยมีลูกค้าสั่งออร์เดอร์นาฬิกาไม้ส่งไปญี่ปุ่น ก็จัดส่งให้ลูกค้าได้ทัน แต่เมื่อไปถึงที่หมาย นาฬิกาไม้แตกหมด เนื่องจากไม้สักที่เราเลือกไม่ได้มาตรฐาน เพราะเจออากาศเปลี่ยน ไม้ก็หด ตอนนั้นขาดทุนไปแสนกว่าบาท ถือเป็นบทเรียนในการทำธุรกิจจะต้องมีความรอบคอบให้มากกว่านี้

ในเรื่องคู่แข่งทางการตลาด ศิริวรรณ ยอมรับว่ามีจำนวนมาก เนื่องจากนาฬิกาเป็นของใช้ประจำบ้าน ประจำตัว ดังนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเจอกับการลอกเลียนแบบ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะเวลาไปออกบูธตามงาน ทำให้ต้องมีการดีไซน์รูปแบบใหม่ๆ ออกมาเสมอ เพื่อสร้างความแตกต่างและจุดขายให้กับสินค้าของตัวเอง

แผนการตลาดที่วางไว้สำหรับสยามนาฬิกาหลังจากนี้ไป อยากทำนาฬิกาที่เป็นสไตล์โมเดิร์นบ้าง เพราะที่ผ่านมาเน้นแอนทีกเป็นส่วนใหญ่ ก็มีกลุ่มลูกค้าประจำบ้างแล้ว แต่ถ้ามีนาฬิกาที่ดูทันสมัยออกแนวใหม่ๆ น่าจะเป็นการแตกไลน์สินค้าให้มากขึ้น โดยที่ผ่านมาทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ส่งที่ปรึกษามาช่วยดูในเรื่องของการออกแบบสินค้า เพื่อปรับใช้กับแบรนด์ของเราแล้ว ซึ่งจะมีทั้งนาฬิกาข้อมือและนาฬิกาตั้งโต๊ะ

นอกจากนี้ ยังออกแบบนาฬิกาแบบใหม่ๆ เพิ่มวัสดุอื่นๆ มาผสมกับงานไม้ เช่น การฝังเงิน ฝังทองเหลือง ฝังเพชร และลงลักปิดทอง ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้ดีอย่างหนึ่ง เพราะงานศิลปะไม่เคยปิดกั้นทางความคิดอยู่แล้ว ยิ่งมีอะไรใหม่ๆ ก็ทำให้สินค้าของเราเป็นจุดสนใจ

ศิริวรรณ ทิ้งท้ายว่า เมื่อมองการเติบโตของธุรกิจที่ทำอยู่ ตอนนี้เธอพอใจในระดับหนึ่ง แม้จะไม่ใช่แบรนด์ที่โด่งดังมาก และเป็นผู้รับผลิตสินค้าตามใบสั่ง แต่ก็ภูมิใจที่ต่างชาติชื่นชมในผลงานของคนไทย แสดงให้เห็นว่าสินค้าอยู่ในระดับที่น่าเชื่อถือ แน่นอนว่า อนาคตก็จะพยายามพัฒนาดีไซน์ใหม่ๆ และรักษามาตรฐานสินค้าไว้ เพราะถ้าธุรกิจไปได้ดีก็เท่ากับช่วยสร้างอาชีพให้คนในชุมชนซันสยามนาฬิกาด้วย

สนใจสินค้าสอบถามได้ที่ โทร. 08-1652-6279