posttoday

'ไมโครอินฟลูเอ็นเซอร์' สายแม่และเด็กขาดแคลนเจ้าของสินค้าต้องการสูง

06 สิงหาคม 2562

'Revu' ชี้เทรนด์การตลาดดิจิทัลเข้าสู่ยุคตัวจริงเสียงจริงรีวิวสินค้า/บริการ ขณะที่เด็กรุ่นใหม่ทั่วโลกโตขึ้นอยากเป็น YouTuber มากกว่านักวิทยาศาสตร์

'Revu' ชี้เทรนด์การตลาดดิจิทัลเข้าสู่ยุคตัวจริงเสียงจริงรีวิวสินค้า/บริการ ขณะที่เด็กรุ่นใหม่ทั่วโลกโตขึ้นอยากเป็น YouTuber มากกว่านักวิทยาศาสตร์

อนุพงษ์ จันทร ผู้บริหาร Revu แพล็ตฟอร์มด้านการรีวิวสินค้าและบริการ เปิดเผยว่าจากการสำรวจการทำตลาดดิจิทัลใน 6 ประเทศ เกาหลี ไทย เวียดนาม ไต้หวัน อินโดนีเซีย และ ฟิลลิปปินส์ พบแนวโน้มการทำตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) ในปัจจุบัน (2019) เข้าสู่ยุคการใช้ 'Micro Influencer' ไมโคร อินฟลูเอ็นเซอร์ นักรีวิวสินค้าบริการที่มาจากคนใกล้ตัว ที่ใช้สินค้า/บริการจริง อย่างเต็มรูปแบบ

'ไมโครอินฟลูเอ็นเซอร์' สายแม่และเด็กขาดแคลนเจ้าของสินค้าต้องการสูง อนุพงษ์ จันทร ผู้บริหาร Revu

สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคคนรุ่นใหม่จะมีแนวโน้มตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า/บริการนั้นๆ จากการอ่านหรือดูรีวิวที่มาจากผู้ใช้จริงเป็นหลักมากกว่า จากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาการทำตลาด ดิจิทัล มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2015 (พ.ศ.2558) เป็นยุค Buzz Marketing หากมีอะไรเกิดขึ้นจะแชร์หรือส่งต่อทันที ถัดมาในปี 2016 (2559) เป็นยุค Social Marketing การทำตลาดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ผ่านเจ้าของเพจหรือแอดมินเพจดังที่มีบทบาทกับผู้บริโภค/ลูกค้า

ในช่วงปี 2017 (2560) เป็นยุคของ Power Influencer มี Blogger เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากเพื่อทำหน้าที่แนะนำ เขียนรีวิวสินค้า/บริการต่างๆ และในปี 2018 (2561) เป็นยุคของMacro/Micro Influencer กลุ่มผู้มีชื่อเสียงที่มีคนติดตามจำนวนมากและคนติดตามเฉพาะกลุ่ม ซึ่งมีมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค

"แนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ จะเชื่อถือคนกันเองมากกว่าคิดเป็นสัดส่วน 92% รองลงมาเป็นการอ่านรีวิวในครั้งที่สอง 70% และมาจากการอ่านรีวิวแนะนำสินค้าบริการ สัดส่วน 47% และการสืบค้นหาเทรนด์ใหม่ๆ จากบล็อกเกอร์ ราว 35% จะเห็นได้ว่าผู้บริโภคมีพฤติกรรมเชื่อถือบล็อกเกอร์น้อยลง" อนุพงษ์ ขยายความ

ขอค้นหา '3 ครั้ง' ก่อนตัดสินใจซื้อ

ขณะที่แนวโน้มดังกล่าว ยังสอดคล้องกับทฤษฎีการค้นหาจำนวน 3 ครั้งของผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า/บริการ คือ 1. ค้นหาข้อมูลสินค้า/บริการนั้นๆ ผ่านแพล็ตฟอร์ม เฟซบุ๊ค เป็นอันดับแรก จากนั้นทำการค้นหาครั้งที่สอง จากการอ่านรีวิวสินค้าจากบล็อคเกอร์ และค้นหาในครั้งที่สามจากคนใกล้ตัว หรือ ผู้ใช้งานจริง เพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อในขั้นสุดท้าย

โดยผู้มีอิทธิพลกลุ่มดังกล่าว คือไมโคร อินฟลูเอ็นเซอร์ ที่อาจมีผู้กดติกตาม(Followers) จำนวนหลักพันขึ้นไปถึงหลักหมื่นราย อย่างไรก็ตามการเลือกใช้ ไมโคร อินฟลูเอ็นเซอร์ จะนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมวางกลยุทธ์ให้กับเจ้าของสินค้าบริการนั้นๆ เพื่อทำให้เห็นในครั้งสุดท้ายก่อนตัดสินใจซื้อ ไม่ได้นำไปใช้เพื่อสร้างการกระตุ้น (Awarness) สินค้า/บริการให้กับเจ้าของสินค้า

นอกจากนี้ยังพบว่าการใช้ไมโครอินฟลูเอ็นเซอร์ จะได้ผลลัพธ์น่าพอใจในกลุ่มสินค้า/บริการ ที่มีราคาต่ำกว่า 200 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา เช่น กลุ่มสินค้าความงาม, ไลฟ์สไตล์ และ แฟชั่น เป็นต้น

นักรีวิวสินค้าแม่และเด็กขาดแคลน - 'ยูทูเบอร์' อาชีพแรงในอนาคต

อนุพงษ์ กล่าวว่าปัจจุบัน แพล็ตฟอร์ม Revu เป็นผู้ให้บริการรีวิวสินค้าและบริการในเครือ วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) ดำเนินกิจการครบ 3 ปี มีบล็อกเกอร์ นักรีวิวบนแพล็ตฟอร์มกว่า 11,000 คน และมีบล็อกเกอร์ รายใหม่เข้ามาในระบบไม่ต่ำวก่า 500 คนต่อเดือน มีจำนวนนักรีวิวบนแพล็ตฟอร์ม Revuใน6 ประเทศ รวมกว่า 5 แสนคน ส่งผลให้ในปี2563 จะขยายการทำตลาดไปยังเอเชีย สหรัฐฯ และในปี2564 จะเป็นกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ และ ยุโรป ตามกระแสความต้องการในทิศทางเดียวกัน

ขณะที่แนวโน้มในปัจจุบันกลุ่มสินค้าแม่และเด็ก ในประเทศไทยพบว่ามีความต้องการ ไมโคร อินฟลูเอ็นเซอร์ นักรีวิว บล็อกเกอร์เฉพาะทางเป็นจำนวนสูงมาก

"แม้ว่าจะมีบล็อกเกอร์สินค้าแม่และเด็กตัวจริงมารีวิวสินค้าแต่จะเหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงนั้นๆ เพราะเมื่อลูกของบล็อกเกอร์เหล่านี้โตขึ้นแล้ว ก็ไม่สามารแนะนำสินค้านั้นได้จริงต่อไปอีก ทำให้ไมโครอินฟลูเอ็นเซอร์ในไทย ขาดแคลนบล็อกเกอร์กลุ่มดังกล่าว" อนุพงษ์ กล่าว

จากแนวโน้มการขยายตัวของไมโครอินฟลูเอ็นเซอร์ ที่เพิ่มขึ้นยังสอดคล้องกับผลวิจัยในต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐฯ ระบุว่าปัจจุบันเยาวชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจอาชีพ YouTuber (ยูทูเบอร์) มากกว่าอาชีพในสายวิทยาศาสตร์ หรือ นักบินอวากาศ เหมือนในอดีต และเป็นแนวโน้มเดียวกับในประเทศไทย ที่จะเกิดขึ้นตามมา

ปัจจุบัน Revu มีไมโคร อินฟลูเอ็นเซอร์ ที่ได้รับความนิยมใน 3 อันดับต้น คือ ความงาม ไลฟ์สไตล์ และ แก็ดเจ็ต รวมอุปกรณ์ของใช้ภายในบ้าน โดยผลดำเนินการประเทศไทยในปี 2561 มีอัตราเติบโต 40% และจากแผนธุรกิจที่วางไว้ในปี2562 วางเป้าหมายเติบโต 30% โดยในอนาคตวางแผนการขยายการทำตลาดรีวิว ผ่านบล็อกเกอร์ระหว่างประเทศเครือข่ายร่วมกันด้วย