posttoday

SENA เดินหน้าลุยโซลาร์ประชาชน  ยื่นขอสิทธิ์ให้ลูกบ้าน 170 หลัง

06 มิถุนายน 2562

SENA เตรียมยื่นขอสิทธิ์ให้กับลูกบ้านเข้าร่วมโครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน”  หลังกกพ.เปิดรับซื้อไฟส่วนเกินเข้าระบบ 100 เมกะวัตต์ สัญญา 10 ปี ราคา 1.68 บาทต่อหน่วย   

SENA เตรียมยื่นขอสิทธิ์ให้กับลูกบ้านเข้าร่วมโครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน”  หลังกกพ.เปิดรับซื้อไฟส่วนเกินเข้าระบบ 100 เมกะวัตต์ สัญญา 10 ปี ราคา 1.68 บาทต่อหน่วย   

น.ส.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA   ผู้ดำเนินโครงการหมู่บ้านใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์)  เปิดเผยว่า เตรียมยื่นขอสิทธิ์ให้กับลูกบ้านที่จะเข้าร่วมโครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” รวมทั้งหมด 6 โครงการ ประกอบด้วย โครงการ เสนาพาร์ค แกรนด์ รามอินทรา ,โครงการเสนาพาร์ควิลล์ รามอินทรา – วงแหวน ,โครงการเสนาวิลล์ บรมราชชนนี สาย 5 ,โครงการเสนาแกรนด์ โฮม รังสิต ติวานนท์ โครงการเสนาช๊อปเฮ้าส์ พหลโยธิน คูคต และโครงการ เสนาช็อปเฮ้าส์ บางแค เฟส 1 และ เฟส 2 ซึ่งมั่นใจว่าจะมีจำนวนรายที่ยื่นสูงสุดกว่า 170 ราย คิดเป็นจำนวน 394.40 กิโลวัตต์

การเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชนจะทำให้ลูกบ้านได้รับประโยชน์จากการขายไฟฟ้าส่วนเกินที่เหลือจากการใช้เข้าระบบในอัตรา1.68 บาท/หน่วย  ซึ่งจะโอนกรรมสิทธิ์ให้กับลูกบ้าน และถือเป็นผู้พัฒนาอสังหาฯ รายเดียวที่หมู่บ้านติดโซลาร์ทุกหลัง

ปัจจุบันมีการติดตั้งให้กับบ้านทุกหลัง รวม 400 หลัง ประมาณ 1,000 กิโลวัตต์ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่โครงการโซลาร์รูฟเสรีนำร่อง ครั้งนั้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการติดตั้ง แต่ยังไม่รับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบจนมาวันนี้มีโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่รัฐกำหนดไว้ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(พีดีพี2018)ที่จะเปิดรับซื้อ10ปีแรก (ปี2562- 2571)ปีละ 100 เมกะวัตต์ โดยรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบ 1.68 บาทต่อหน่วยจะเข้ามามีส่วนสำคัญต่อการกระตุ้นให้เกิดความคุ้มค่าการติดตั้งมากขึ้น

อย่างไรก็ตามการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัยหรือโซลาร์รูฟท็อปนั้น  แม้ว่ารัฐจะไม่ซื้อไฟฟ้าเข้าระบบทั้งหมด แต่ก็เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายของผู้ที่จะติดโซลาร์รูฟท็อป คือ1.คนสูงวัยและเด็ก ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ใช้ไฟช่วงเวลากลางวันๆละ4-5 ชม. 2.คนที่ทำงานอิสระหรือฟรีแลนซ์เฉลี่ยวันละ3ชม.ครึ่ง   3.พนักงานประจำ(หยุดวันเสาร์ – อาทิตย์) วันละ3 ชม.  แต่เมื่อพิจาณาดูแล้ว กลุ่มที่มีความคุ้มค่าในการใช้โซลาร์จะเป็นกลุ่มที่ 1 และ 2 ทำให้ตอบโจทย์ของการติดตั้งแผงโซลาร์ที่สามารถผลิตไฟฟ้าใช้แล้วคุ้มค่าเพราะแสงอาทิตย์มีช่วงกลางวันทำให้เกิดการประหยัดค่าไฟ

ส่วนกลุ่มที่ 3 จะเป็นกลุ่มที่คุ้มค่าในการขายไฟฟ้าให้กับรัฐเนื่องจากกลุ่มนี้ไม่ได้ใช้ไฟช่วงกลางวัน(วันธรรมดา) แต่เมื่อมีโซลาร์ภาคประชาชนที่รับซื้อไฟส่วนเกินเข้าระบบกลุ่มนี้จะได้รับผลประโยชน์มากที่สุด

นอกจากนี้  ยังได้เตรียมรุกตลาดพลังงานมากขึ้น โดยบริษัทเสนาโซลาร์ เอนเนอร์ยี่ จำกัด วางแผนและตั้งเป้ายอดขายในปีนี้ไว้ 600 ล้านบาท รวมกำลังการติดตั้ง 24 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเข้าไปขยายตลาดในกลุ่มผู้ประกอบการ อาทิ โรงงาน คลังสินค้า  เป็นต้น รวมจำนวน 13 แห่ง  โดยเฉพาะการเข้าไปทำตลาดในรูปแบบของการจำหน่ายไฟฟ้าตรงให้กับผู้ประกอบการ หรือ Private PPA เป็นการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา และจำหน่ายไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวัน ให้กับผู้ประกอบการโดยตรง เนื่องจากช่วงเวลากลางวันเป็นช่วงเวลา การจำหน่ายไฟฟ้าที่มีราคาสูง (ON PEAK) ทำให้ต้นทุนการใช้พลังงานลดต่ำลง เนื่องจากค่าไฟฟ้าที่ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์จะมีราคาที่ต่ำกว่า ราคาไฟฟ้าที่ซื้อจากระบบของการไฟฟ้า