posttoday

ทัพนักธุรกิจ อิตาลี-ไทย โชว์ศักยภาพการค้า-ลงทุน กว่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

05 มิถุนายน 2562

25บริษัทชั้นนำจากอิตาลี-ไทย รวมพลเพื่อเจรจาทางการค้าในเวทีอิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม ครั้งที่ 5 ขับเคลื่อนธุรกิจมีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันกว่า 5 แสนล้านดอลาร์สหรัฐ

25บริษัทชั้นนำจากอิตาลี-ไทย รวมพลเพื่อเจรจาทางการค้าในเวทีอิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม ครั้งที่ 5 ขับเคลื่อนธุรกิจมีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

การประชุม อิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม (Italian-Thai Business Forum) ครั้งที่ 5 ณ The Baths of Diocletian - National Roman Museum กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อเร็วๆนี้ จัดโดย สภาหอการค้าและสมาชิกสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย ประกอบด้วยผู้นำทางด้านธุรกิจชั้นนำจากทั้งประเทศไทย และประเทศอิตาลี รวมทั้งสิ้น 25 บริษัท เพื่อหารือถึงการดำเนินธุรกิจระหว่างบริษัทสมาชิกอิตาลีและไทยในสาขาธุรกิจต่างๆ ที่มีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อาทิ เครื่องจักร, ไบโอ อีโคโนมี, ผลิตภัณฑ์อาหารและเกษตร, การท่องเที่ยว, เฟอร์นิเจอร์, การดีไซน์, การเงิน, การก่อสร้าง, การคมนาคม และการศึกษา เป็นต้น อีกทั้งเป็นการส่งเสริมความเข้าใจอันดีและมิตรภาพระหว่างสองประเทศในโอกาสครบรอบ 151 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต

ทั้งนี้การประชุมครั้งล่าสุด ครั้งที่ 5 นี้ มีประธานการประชุมร่วม ได้แก่ ฝั่งไทย น.ส.บุษบา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด และ ฝั่งอิตาลี มร. คาร์โล เปซานตี (Mr.Carlo Pesenti) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิตาโมบิเลียเร่ (Italmobiliare) กลุ่มอิตัลซีเมนติ โดยมีผู้สนับสนุนการจัดงาน ได้แก่ ฯพณฯ โลเรนโซ กาลันตี (H.E. Mr. Lorenzo Galanti) เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย, นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานอาวุโสหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, ฯพณฯ แมนลิโอ ดิ สเตฟาโน (H.E. Mr. Manlio Di Stefano) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ และ นายเชิดชู รักตะบุตร เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโรม ซึ่งในปีที่ผ่านมา อิตาลีและไทยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันรวมกว่า 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ประมาณ 0.77%

นอกจากนี้ ฟอรั่มดังกล่าว ยังเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน อาทิ แนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศไทยและประเทศหลักของโลก สิทธิประโยชน์การเข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School)และนโยบายในการสนับสนุนห่วงโซ่มูลค่าของการผลิตอาหารที่มีคุณภาพสูง เป็นต้น

สำหรับข้อสรุปเพิ่มเติมของการประชุมประกอบไปด้วย 1. มร.จิโอวานนี โรคา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อิตาเลียน สเตท เรลล์เวย์ มีความสนใจในการลงทุนในประเทศไทยอย่างมากในส่วนของรถไฟความเร็วสูง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะร่วมประมูลสัมปทานกับทางซีพี ในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน ซึ่งอยู่ระหว่างการรอผลการประมูลจากรัฐบาลไทย โดยทาง อิตาเลียน สเตท เรลล์เวย์ อยู่ระหว่างเปิดบริษัทในประเทศไทย (Italian Railway Thailand) นอกจากนั้นทาง อิตาเลียน สเตท เรลล์เวย์ ยังเป็นส่วนหนึ่งของการก่อสร้างรถไฟ MRT สายสีส้ม (ส่วนตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในปัจจุบัน ซึ่งการเข้าร่วมประชุม อิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม นี้เป็นการยืนยันการมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

2.นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างดำเนินการโครงการ“โรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ระหว่างไทยและอิตาลี โดยรัฐบาลไทยได้มอบสิทธิประโยชน์ทางภาษี 2 เท่า สำหรับเอกชนที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการในการพัฒนาหลักสูตรของโรงเรียนให้ตรงกับความต้องการของโรงงานในพื้นที่หรือจังหวัดนั้นๆ เพื่อให้นักเรียนมีงานทำในพื้นที่ โดยเริ่มต้นโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา เฟสแรก ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2561 กับ 15 บริษัทไทย และกำลังจะเริ่มโครงการ เฟส 2 ในปี 2562 ซึ่งทางหอการค้าได้เชิญชวนบริษัทอิตาลีที่อยู่ในประเทศไทยเข้าร่วมโครงการนี้

3.นายชัยภัฏ จาตุรงคกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกิจระหว่างประเทศ บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด และ นายเท็ด โปษะกฤษณะ ถิระพัฒน์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท กราฟีน ครีเอชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัท ไทย-อิตาลี ที่ร่วมลงทุนระหว่างบริษัท วิทตอเรีย อินดัสตรีส์ จำกัด และบริษัท ยูทีซี โฮลดิ้ง จำกัด โดยปัจจุบัน บริษัท กราฟีน ครีเอชั่นส์ อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาโครงการต่างๆ อาทิ Graphene Carbon Fiber(กราฟีน คาร์บอน ไฟเบอร์) การนำกราฟีน ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของคาร์บอน ลดความร้อนของการเสียดทานได้ดี นำไปผลิต composite ที่ใช้ในชิ้นส่วนจักรยาน รถยนต์ หรือ รถแข่ง , Smart Fabric/ Graphene Fabric (สมาร์ทแฟบริค / กราฟีน แฟบริค) เสื้อผ้าที่พิมพ์หรือทอด้วยกราฟีน ซึ่งสามารถถ่ายเทความร้อนได้ดี แก้ไขปัญหาพื้นที่จุดร้อน (hot spot area) เหมาะกับเสื้อผ้ากีฬาที่ต้องห่อหุ้มความร้อนของร่างกาย โดยคาดว่าจะสามารถมีผลผลิตสู่ตลาดได้ภายในปี 2563

4.นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานอาวุโสหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการ กลุ่มมิตรผล มองว่ารัฐบาลมีนโยบายในการสนับสนุนการผลิตอาหารที่มีคุณภาพสูง โดยการลดภาษีสำหรับโรงงานที่ผลิตสินค้าดังกล่าว จึงเป็นโอกาสของบริษัทอิตาลี เนื่องจากอิตาลีเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีในการผลิตและเป็นผู้เชี่ยวชาญในการส่งออกอาหารไปต่างประเทศ นอกจากนี้อาหารอิตาลี, ไทย,ยุโรปเป็นที่นิยมของตลาดโลก จึงเป็นโอกาสของการทำโรงเรียนสอนทำอาหาร culinary school ของอิตาลีในประเทศไทย

5.นายธวัชชัย กิตติศรีบูรณ์กุล ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารลูกค้าองค์กรระหว่างประเทศ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) การบินไทยยืนยันรักษาเส้นทางการบินระหว่าง กรุงเทพ – มิลาน , กรุงเทพ – โรม และรัฐบาลไทยสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ โดยการบินไทยได้มีการประชุมร่วมกับครีโมนีนี กรุ๊ป อิตาลี (Cremonini Group) ในการร่วมมือกับครัวการบินไทย

6. มร.คาร์มาย เฟอร์ราโร (Carmine Ferraro) บริษัท ไซเปม (SAIPEM) จากประเทศอิตาลี บริษัทวิศวกรรมพลังงานด้านน้ำมันและก๊าซ ปัจจุบันได้ร่วมกับ ปตท. ในการดำเนินงานด้านก๊าซธรรมชาติในประเทศอินเดีย และดำเนินการกับไทยออยล์

7.น.ส.าวบุษบา จิราธิวัฒน์ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ห้างสรรพสินค้ารีนาเชนเต โรม ภายใต้การบริหารของกลุ่มเซ็นทรัล ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างมาก คิดเป็น 50% ของจำนวนคนที่มาท่องเที่ยวในห้างสรรพสินค้า ทางด้านห้าง รีนาเชนเต สาขาตูริน กำลังอยู่ในระหว่างปรับปรุงคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนต.ค.ปีนี้ โดยมีการขยายพื้นที่จาก 3 ชั้น เป็น 6 ชั้น ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้ดี
โดยในส่วนของการเผยแพร่เอกลักษณ์ของสินค้าและแฟชั่นไทย ห้างรีนาเชนเต มิลาน มีร้านเสื้อผ้าแฟชั่น “SIRIVANNAVARI” (สิริวัณณวรี) ในรูปแบบ pop-upสโตร์ ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 รวมทั้งมีการจัดแสดง ดอยตุง โชว์เคส (Doi Tung Showcase) เสื้อผ้าจากฝีมือชุมชนในโครงการพัฒนาดอยตุงฯ จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของ รัชกาลที่ 9 ณ รีนาเชนเต มิลาน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาอีกด้วย

อย่างไรก็ตามความสำเร็จของการประชุมที่ดำเนินมาถึงครั้งที่ 5 เป็นการตอกย้ำถึงการการพัฒนาทางธุรกิจร่วมกันที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้ภาคการค้าของทั้งสองประเทศมีการเจริญเติบโต และสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่แน่นแฟ้นตลอดไป โดยอิตาลีถือเป็นคู่ค้าอันดับ 25 ของไทย โดยในปี 2561 ไทยและอิตาลีมีมูลค่าการค้ารวม 3,854.86 ล้านดอลลาร์สหรํฐ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 3.76% มูลค่าการส่งออก 1,689.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าการนำเข้า 2,165.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ