posttoday

ประภาภัทร นิยม "รุ่งอรุณ" แห่งโรงเรียนทางเลือก

31 มีนาคม 2562

"ประภาภัทร นิยม" ผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ ที่ได้ทลายกำแพงการศึกษาแบบเดิมๆ พร้อมจุดไฟแห่งความหวัง สร้างภาพจดจำใหม่ๆ ต่อการศึกษาของไทย

"ประภาภัทร นิยม" ผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ ที่ได้ทลายกำแพงการศึกษาแบบเดิมๆ พร้อมจุดไฟแห่งความหวัง สร้างภาพจดจำใหม่ๆ ต่อการศึกษาของไทย

*****************

โดย...เอกชัย จั่นทอง

ทลายกำแพงการศึกษารูปแบบเดิมลงอย่างสิ้นเชิง สำหรับ “โรงเรียนทางเลือกใหม่” อย่างโรงเรียนรุ่งอรุณ ย่านบางมด กรุงเทพฯ ต้นแบบของการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม (Holistic Education) ที่ประกอบด้วย Head-Hand-Heart ที่ไม่ยึดโยงอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม แต่เลือกอยู่เหนือกรอบบนความเข้าใจ ด้วยสไตล์การสอนแตกต่างกับโรงเรียนทั่วไปที่ไม่เน้นเพียงการท่องจำความรู้

ที่สำคัญ คือ เปิดโอกาสให้เด็กทุกคนใช้ความรู้ทันที คือกล้าแสดงพลังความคิดสู่สาธารณะอย่างมั่นใจ จึงไม่แปลกที่ผู้ปกครองนับพันครอบครัวต่างวางใจส่งลูกหลานเข้าสู่โรงเรียนแห่งนี้ บนความเชื่อว่าโรงเรียนจะช่วยบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์วัยเยาว์เหล่านี้ ท่ามกลางสวนป่าธรรมชาติเนื้อที่กว่า 50 ไร่ ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ

ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ ฝ่ากำแพงการศึกษาแบบเดิมๆ พร้อมจุดไฟแห่งความหวัง สร้างภาพจดจำใหม่ๆ ต่อการเรียนการศึกษายุคปัจจุบันที่ทันสมัยสู่การเป็น “โรงเรียนทางเลือก” ให้กับผู้ปกครอง พัฒนาโรงเรียนที่เหมือนบ้านหลังที่สอง ค่อยส่องแสงนำชีวิตเด็กนักเรียนสู่การเรียนแห่งปัญญา ยึดพื้นฐานการเข้าถึงคุณค่า และความสุขในตัวตนที่แท้จริงของนักเรียนทุกคน

ที่สำคัญ ประภาภัทรยังเป็นเจ้าของรางวัล “การส่งเสริมการศึกษาเพื่อสันติภาพ ประจำปี 2561” จากมูลนิธิการศึกษาเพื่อสันติภาพ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) รางวัลนี้เป็นรางวัลเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และสืบสานแนวคิดของพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ในการประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมเพื่อการพัฒนาการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคม อันจะนำไปสู่สันติสุขและสันติภาพอันยั่งยืน

ประภาภัทรรู้สึกภาคภูมิใจต่อรางวัลเกียรติยศชิ้นนี้อย่างสูงสุดในชีวิต ในฐานะ “นักการศึกษาแนวใหม่” ที่โรงเรียนหลายแห่งทั่วประเทศต่างสนใจการเรียนรูปแบบนี้ โดยเฉพาะบรรดาครูอาจารย์ทั้งหลายต่างมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ดูกระบวนการศึกษาจากโรงเรียนรุ่งอรุณ จนทุกคนให้การยอมรับไปในทิศทางเดียวกัน

สารพัดข้อสงสัย หลายคนถามว่าโรงเรียนทางเลือกจำเป็นไหม? ประภาภัทรให้ความเห็นว่าโรงเรียนทางเลือกจำเป็นต้องเกิดขึ้นมาตั้งนานแล้ว หรือเพราะเราคุ้นชินกับการศึกษาที่มีอยู่ เรียกว่าอยู่ ใน Comfort Zone เลยไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลง ในประเทศไทยมีตัวอย่างโรงเรียนเหล่านี้อยู่หลายแห่ง และสามารถทำได้จริง แล้วทำไมโรงเรียนอื่นๆ จะเปลี่ยนไม่ได้?

ความจริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนรู้ที่ดี มีคุณภาพ สามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ การจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน ควรเปลี่ยนให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเอง ตั้งคำถามเป็น เป็นเจ้าของโจทย์ อยากคิดโจทย์นั้น แก้ปัญหาโจทย์นี้ด้วยตัวเด็กเอง ตรงนี้ควรเปลี่ยนมาตั้งนานแล้ว

ประภาภัทร นิยม "รุ่งอรุณ" แห่งโรงเรียนทางเลือก

ผลสัมฤทธิ์ที่เด่นชัดจากโรงเรียนรุ่งอรุณ เด็กนักเรียนทุกคนมีความสามารถใคร่ครวญเรียนรู้ด้วยตัวเองว่า สิ่งใดเหมาะสมกับเรื่องราวต่างๆ การวางแผน การจัดการ เด็กทำเองหมด เพราะโรงเรียนเปิดโอกาสให้เด็กเหล่านี้ทำศักยภาพในตัวเด็กจึง “เบิกบานเติบโตตามวัยเด็ก” อย่างเช่นงานโรงเรียนมีชื่อว่า “งานหยดน้ำ” ของโรงเรียนรุ่งอรุณจะเป็นการประมวลผลงานว่าเด็กเรียนอะไรมาบ้าง ในช่วงปลายเทอมนักเรียนจะเชิญผู้ปกครองมาดู เด็กอนุบาลร่วมนั่งวางแผนกันว่าจะเชิญผู้ปกครองให้มาอย่างไร ใช้วิธีไหน เชิญมาทำอะไร โดยให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมและรับรู้สิ่งที่เด็กได้เรียนไป

“แค่ระดับอนุบาลยังสามารถจัดกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ได้ ที่สำคัญเด็กทุกคนอยู่กับความจริงตรงหน้า เด็กไม่ได้ถูกล็อกให้นั่งฟังสิ่งที่ไม่มีความหมายต่อเขา และยังไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร แต่ว่าเด็กอยู่กับความจริงตรงหน้า เด็กต้องใช้ความรู้ ต้องลงมือทำ ตรงนี้เห็นชัดเจนว่าทุกคนพัฒนาไปตามวัยและศักยภาพของตนเองได้” ประภาภัทร ระบุ

ประภาภัทร กล่าวว่า อุปนิสัยนักเรียนรุ่งอรุณถูกฝึกให้เป็นคนมี “จิตใหญ่” คือรับรู้เรื่องของสังคม สำคัญกว่าเรื่องของตัวเอง เช่น นักเรียนระดับมัธยม 2 เรียนเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ของภาคกลาง ทุกคนรู้ว่าพื้นที่ราบลุ่มเหล่านี้เหมาะทำนาปลูกข้าวมาแต่เดิม ก่อนถูกรุกคืบจากอุตสาหกรรม เด็กจะตั้งคำถาม แล้วหาคำตอบในโจทย์ปัญหานั้น ลักษณะเช่นนี้เป็นโจทย์ที่ใหญ่กว่าตัวเด็ก ที่มันไม่ใช่เพียงการเรียนในตำราแต่มันต้องใช้ความรู้จำนวนมากหาคำตอบ

โรงเรียนไม่ได้ทำอะไรมาก เพียงแต่เปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้เด็ก ครูมีบทบาทพาไปดูโจทย์สถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นจริง ตั้งคำถามถึงคุณค่าแท้และใช้การสอนแบบ Active Learning ที่ให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของโจทย์ด้วยตัวเอง โรงเรียนรุ่งอรุณเรียนแบบนี้ไม่ได้เรียนเฉพาะในห้องเรียน มันจึงมีข้อแตกต่างกับการเรียนการสอนแบบทั่วไป

นอกจากนี้ ประภาภัทร ยังขยายองค์ความรู้การจัดการศึกษาแนวนี้ไปสู่โรงเรียนต่างๆ ที่ต้องการปรับรูปแบบการสอน เช่น โครงการต้นแบบพื้นที่นวัตกรรม การจัดการศึกษาระดับจังหวัด ระยอง ศรีสะเกษ เป็นพื้นที่นวัตกรรมการจัดการศึกษา หรือ Sandbox เพื่อทดลองการปฏิรูปการศึกษาไทย

ทั้งนี้ เป็นข้อเสนอที่ริเริ่มมาจาก Thailand Education Partnership (TEP) หรือภาคีเพื่อการศึกษาไทย ที่ประกอบด้วยองค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปศึกษาไทย อาทิ สถาบันอาศรมศิลป์ มูลนิธิสยามกัมมาจล สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และอื่นๆ อีกกว่า 20 องค์กร มีเป้าหมายที่จะกำหนดให้มีพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งมีลักษณะเป็น Sandbox เพื่อปฏิรูปการศึกษาระดับจังหวัดให้เป็นพื้นที่นำร่อง ยกระดับการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนร่วมจัดการศึกษา มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ โดยส่งเสริมให้สถานศึกษาหรือโรงเรียนมีอิสระในการพัฒนาหลักสูตร ปรับเปลี่ยนวิธีการ จัดการเรียนรู้และการวัดและประเมินผล เพื่อยกระดับผู้เรียนโดยตรง

“การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อชีวิตของคนเรียน ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าภาพโรงเรียน ต้องเป็นตัวของตัวเอง เป็นผู้จัดการศึกษาของตัวเอง เรากำลังไปร่วมสร้างความแข็งแรงให้กับโรงเรียนต่างๆ“

ประภาภัทรเปิดใจถึงเหตุผลที่ลงมาทำพื้นที่นวัตกรรมข้างต้นว่า เพราะยังมีผู้บริหารและครูหลายโรงเรียน มีความพยายามพัฒนาเปลี่ยนแปลงโรงเรียนของตนเองอยู่เช่นกัน ดังนั้น จึงต้องปรับมุมมองวิธีคิดและเช็กเป้าหมายของผู้บริหารและครูให้อยู่ที่เด็กเป็นสำคัญ แล้วจึงช่วยพัฒนาทักษะบทบาทของเขาให้เป็นเจ้าของโจทย์ในโรงเรียนของตนเองว่า ทำอย่างไรถึงจะเกิดผลสัมฤทธิ์และผลลัพธ์กับนักเรียนได้จริง ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก เพียงกลับมาทบทวนว่า การให้เวลา ให้พื้นที่ ให้โอกาสเด็กเต็มที่หรือไม่ เพียงเรายกชีวิตผู้เรียนเป็นตัวตั้ง ไม่นำเรื่องการรักษาระบบมาเป็นตัวตั้ง และเน้นสมรรถนะของผู้เรียนเป็นตัวตั้ง ผู้บริหารและครูจึงจะเกิดความคิดสร้างสรรค์ ทำทุกอย่างเพื่อไปบรรลุผลตามเป้าหมายดังกล่าวได้

มนุษย์มีความใฝ่ดีมากกว่าใฝ่ชั่วอยู่เป็นพื้นฐาน ดังนั้น ต้องไว้ใจมนุษย์ว่าพัฒนาได้ทุกคน ถ้าเราให้โอกาสเรียนรู้ถึงคุณค่าของสิ่งต่างๆ รับรองเขาจะเกิดวินัยในตนเอง คือ รู้ควร รู้กาลเทศะ ผ่านความอิสระที่สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยน เคารพความเห็นบุคคลอื่น โดยไม่ต้องมีอะไรไปคุมไว้ แค่เราเชื่อมั่นเปิดใจกว้างเท่านั้น หากไม่เชื่อมั่นในมนุษย์แล้ว จะทำเรื่องการศึกษาให้สำเร็จได้อย่างไร

บนโลกใบนี้ มนุษย์เป็นสิ่งเดียวที่สามารถพัฒนาได้โดยไม่มีขีดจำกัด ฉะนั้น ต้องให้โอกาส เวลา แล้วเด็กจึงจะเรียนรู้ จะเติบโตเองเหมือนคำพระพุทธเจ้าสอนว่า “ให้ทำตัวเหมือนชาวนา ชาวนาไม่ได้ทำให้ข้าวออกรวง แต่ชาวนาทำเหตุอะไรบ้าง เตรียมดิน เตรียมกล้า ปักดำ ไขน้ำเข้า-ออก ดูวัชพืช แล้วเมื่อถึงเวลาข้าวจะออกรวงเอง”

อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวย้ำว่า หากผู้บริหารโรงเรียนและครูทำเหตุให้ถูก ทำเหตุดีก็ได้ผลดี ถ้าทำเหตุไม่ดีในที่สุดก็ได้รับผลไม่ดี คนเรายังไงก็อยากได้ดี เพียงแต่ไม่มีใครนำทางให้ ส่วนเด็กเขาจะเป็นผู้แสดงผลตามความสามารถของเขาเอง อย่ารอหวังพึ่งอะไรที่ไม่ใช่การทำเหตุ ทั้งนี้ ต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่หมุนตลอดเวลา โรงเรียนรุ่งอรุณยังต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน ไม่เคยหยุดนิ่งเช่นกัน

ในปีหน้ามีแผนเปิด English Program รับนักเรียน ตั้งแต่ระดับอนุบาล ก่อนขยายให้ครอบคลุมถึงระดับชั้นประถมศึกษา ถัดจากนั้นปี 2563 จะเริ่มเปิดการเรียนแบบ International Baccalaureate (IB) แต่ในสไตล์ของรุ่งอรุณ โดยเริ่มที่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ทั้งนี้ เป็นการปรับไปตามความเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะเราอยู่นิ่งไม่ได้ ทุกอย่างต้องปรับเปลี่ยนไป ส่วนครูนั้นต้องมีการฝึกฝนทักษะใหม่ขึ้นเรื่อยๆ อยู่เสมอ

ประภาภัทร กล่าวว่า หวังเห็นการศึกษาไทยมีความทันสมัยตามยุคและรักษาคุณค่าวัฒนธรรมไทย ตอนนี้เราอยู่ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งต้องการคนที่มีทักษะแตกต่างจากอดีตชัดเจนมาก นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราต้องปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน หากเราไม่ปรับตัวจะตกยุคและใช้การไม่ได้ กลายเป็น Disruption School

ประภาภัทร นิยม "รุ่งอรุณ" แห่งโรงเรียนทางเลือก

หนีกับดักการศึกษารูปแบบเดิม

ประภาภัทร กล่าวว่า เรื่องการศึกษาไทยติดหล่มมานาน แม้ที่ผ่านมาจะมีการหาทางออกอยู่เสมอ ผ่านการปฏิรูปการศึกษามาหลายรอบ แต่อาการยังไม่ดีขึ้น ตรงนี้น่าจะเป็นสิ่งที่อยู่ในใจทุกคน ในหลายประเทศปรับเปลี่ยนวิธีการสอนและใช้เวลานานในการปฏิรูปการศึกษาจึงสำเร็จ เช่น ฟินแลนด์ หรืออย่างสิงคโปร์ ที่ปรับตัวเองอย่างรวดเร็ว เพราะเห็นตัวอย่างในประเทศที่ปฏิรูปแล้ว สิ่งเหล่านี้ประเทศไทยกลับมองว่า เป็นแค่การศึกษาทางเลือก ทั้งที่ความจริงมันมีความจำเป็น เพราะปัจจุบันนี้โลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จึงถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องมีการเปลี่ยนการศึกษาทั้งระบบสังคมไทยจึงจะอยู่ได้

“ความเจริญทางเทคโนโลยีทำให้มนุษย์มีแบบแผนของการดำเนินชีวิตแบบใหม่ การแสวงหาสิ่งที่จำเป็นในชีวิต และใช้ทักษะที่ไม่เหมือนเดิม แต่สังคมไทยยังไม่เฉลียวใจกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เพราะเราเคยอยู่แบบสบายๆ แล้วใช้ชีวิตไปตามธรรมชาติ มันอาจจะดี ขณะเดียวกันธรรมชาติก็เปลี่ยนแปลง ถ้าเราไม่รู้ว่าธรรมชาติเปลี่ยนแปลง เราก็ต้องพึ่งพาอาศัย ฉวยใช้ธรรมชาติไปตามยถากรรม ยิ่งไปกว่านั้นเรากลับไม่ได้ให้อะไรตอบแทนธรรมชาติเลย นั่นคือ ความไม่ยั่งยืน” ประภาภัทร ระบุ

ผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ กล่าวด้วยว่า ทักษะของคนยุคใหม่ต้องเปลี่ยนแปลง เราไม่สามารถใช้ชีวิตหรือทักษะวิธีการเดิมได้อีก ที่ลึกกว่านั้น ศักยภาพของลูกหลานเรามีอยู่มากกว่าที่คิด เพียงแต่การศึกษาอาจยังไม่ช่วยดึงศักยภาพนั้นออกมา วิธีการที่จะทำให้การเรียนเกิดจากผู้เรียนใฝ่เรียนเอง มันไม่เกิด เลยดูเหมือนว่า “การศึกษาเป็นของที่ต้องป้อน” และผู้ปกครองยังคาดหวังให้ลูกเข้าสู่ “ลู่แห่งการแข่งขัน” อย่างเอาเป็นเอาตาย แทนที่จะเห็นศักยภาพที่แท้จริงของลูก แล้วสนับสนุนเขาให้เติมเต็มการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นเด็กแห่งศตวรรษที่ 21

“เด็กที่ถูกทำให้นั่งรอรับรอเรียน แทนที่จะเป็นผู้ลุกขึ้นเรียน แต่กลับเป็นผู้รอเรียนว่าเขาจะเอาอะไรมาให้ ทำให้ศักยภาพเด็กหยุดแค่นั้น รวมถึงการเปลี่ยนทัศนคติครูที่ต้องให้เห็นว่าเด็กมีความสามารถในการเรียนรู้ ครูอย่าเป็นพระเอกนางเอกในห้องเรียนที่เอาแต่สอน จนครูเก่งอยู่คนเดียว แต่นักเรียนไม่รู้เรื่อง ดังนั้นครูต้องเปลี่ยนท่าทีและบทบาทเช่นกัน รวมถึงระบบการประเมินครู ที่ควรใช้ผลลัพธ์ของเด็กเป็นตัวตั้ง” ประภาภัทร สะท้อนข้อคิดเห็น

ทว่า สังคมโดยทั่วไปยังไม่เข้าใจในประเด็นส่วนลึกนี้ เพราะถ้าเราไม่สร้างคนรุ่นใหม่ที่ใฝ่รู้ด้วยตัวเองตรงนี้สังคมจะยิ่งกว่าติดกับดัก “สังคมแห่งปัญหา” ต้องยอมรับว่ามีผู้ปกครองอีกมากยังไม่ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงในโลกนี้ และตามไม่ทันธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กยุคใหม่ รวมทั้งการที่เด็กเข้าถึงเทคโนโลยีที่อยู่เหนือการควบคุมใดๆ เพราะเหตุนั้นเราจึงต้องการการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ใช่การศึกษาแบบเดิมอีกต่อไป

ผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ มองอีกว่า ปัจจุบันเรากำลังติดกับดักความล้าหลังทางการศึกษา เหตุผลง่ายๆ คือ การไม่ยอมเปลี่ยนแปลง และไม่คำนึงถึงประโยชน์ที่แท้จริงที่จะได้กับเด็กและประเทศชาติ สิ่งที่เด็กต้องเผชิญคือ ควรรับมือกับโลกยุคใหม่อย่างไร

ทั้งนี้ ระบบการศึกษาเดิมใช้การไม่ได้แล้ว และต้องยอมรับว่าเด็กรู้เร็วกว่าผู้ใหญ่ ผ่านความพยายามเลือกเส้นทางของตัวเอง เนื่องจากเด็กสมัยนี้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่าเรา ทั้งยังพบว่าเด็กนักเรียนเริ่มไม่สนใจระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาขึ้นไป

จึงไม่แปลกที่โรงเรียนทั้งหลายเตรียมล้าสมัย เพราะเด็กอาจไม่เลือก ที่สุดแล้วหากเราจะทำเรื่องการศึกษา ต้องมีนักปราชญ์ทางการศึกษา อีกทั้งต้องเป็นนักจัดการระบบ เป็นผู้ที่เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ และร่วมสร้างให้สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมได้อย่างแท้จริง จะช่วยให้การเผยแพร่ส่งเสริมให้ “การศึกษาใหม่” นี้ขยายต่อไปทั่วทั้งประเทศไทย