posttoday

แกรมมี่บุกหนักดิจิทัล ตั้งเป้าเติบโตเลขสองหลักพร้อมวาง5กลยุทธ์เพื่อชิงเวลาผู้บริโภค

23 มีนาคม 2562

จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ชู 5 กลยุทธ์บุกดิจิทัล จับมือแพลตฟอร์มสร้างเพลงฮิต ขยายงานโชว์บิซคอนเสิร์ต เร่งดันรายได้โต

จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ชู 5 กลยุทธ์บุกดิจิทัล จับมือแพลตฟอร์มสร้างเพลงฮิต ขยายงานโชว์บิซคอนเสิร์ต เร่งดันรายได้โต

นายภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เปิดเผยถึงแผนธุรกิจของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค 5 ปี (2562-2567) ว่า บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตเฉลี่ยปีละมากกว่า 10% ผ่านกลยุทธ์ 5 ด้าน คือ 1.การสร้างเพลงฮิตใหม่ให้กับศิลปินที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว และการสร้างศิลปินใหม่และเพลงใหม่ โดยแต่ละปีจะมีการสร้างเพลงใหม่ 500 เพลง เพื่อให้เพลงสร้างรายได้ทั้งผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม

2.สร้างออริจินัลคอนเทนต์เฉพาะให้กับแพลตฟอร์มแต่ละแพลตฟอร์มที่เป็นพันธมิตร อาทิ จูกซ์ สปอตติฟาย ไลน์ทีวี เน็ตฟลิกซ์ เอไอเอสเพลย์ เป็นต้น ซึ่งเปิดกว้างการร่วมมือทำงานทั้งศิลปินของจีเอ็มเอ็มมิวสิค และศิลปินค่ายอื่นๆ คาดว่าจะมีการสร้างเพลงใหม่ประมาณ 100 เพลงในปีนี้ สามารถขยายไปสู่การจัดอีเวนต์ และคอนเสิร์ตได้เป็นการผนึกออนไลน์และ ออนกราวด์เข้าด้วยกัน 3.ขยายธุรกิจ โชว์บิซและเมอร์เชนไดซิ่ง ทั้งมิวสิค เฟสติวัล และคอนเสิร์ตรูปแบบต่างๆ เพื่อตอบสนองความนิยมของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม

4.การทำธุรกิจด้านลิขสิทธิ์ในรูปแบบบริการให้กับธุรกิจต่างๆ เช่น รายการเพลงทางโทรทัศน์ คาราโอเกะ เป็นต้น โดยมีเป้าหมายคืนรายได้ให้กับคนเบื้องหน้าและเบื้องหลัง และ 5.ออนไลน์คอนเทนต์ ตั้งแต่ปี 2562 จะรุกตลาดออนไลน์ คอนเทนต์เต็มที่เพื่อขยายฐานลูกค้า โดยได้มีการเปิดตัวหน่วยงานใหม่ คือ ซน เป็นออนไลน์ครีเอเตอร์ฮับ จะมีการผลิตคอนเทนต์ให้กับแพลตฟอร์มออนไลน์ เน้นสื่อสารทั้งเพลง ความเป็นตัวตนและดีเอ็นเอของศิลปิน ทั้งคอนเทนต์ด้านอาหาร ท่องเที่ยว และไลฟ์ไตล์ เป็นต้น

"ทุกวันนี้ธุรกิจเพลงไม่ได้แข่งขันกันเองอีกต่อไปแล้ว แต่ต้องแข่งขันกับทุกธุรกิจเพื่อแย่งเวลาของผู้บริโภค เพื่อให้อยู่กับเพลงหรือคอนเทนต์ของเรา เนื่องจากความสนใจของผู้บริโภคมีหลากหลายมากและอาจจะใช้เวลาไม่นานกับเรื่องใด เรื่องหนึ่ง ที่ผ่านมาบริษัทได้ปรับโครงสร้างทั้งด้านผลิต การตลาด การขาย เพิ่มบุคลากร ลงทุนด้านดิจิทัล รวมถึงดาต้าอะนาไลติกส์เพื่อให้เข้าถึงพฤติกรรม ผู้บริโภค" นายภาวิต กล่าว

สำหรับปี 2562 ตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตอย่างน้อย 10% หรือรายได้มากกว่า 4,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2561 ที่ผ่านมา มีรายได้ 3,738 ล้านบาท เติบโต 22% เทียบกับปี 2560 สูงกว่าตลาดเพลงโลกที่มีอัตราเติบโต 8.1% เป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจดิจิทัลโดยรวมเติบโต 37%

ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะด้านดิจิทัล แพลตฟอร์ม จะเติบโตสูงถึง 83% ตามมาด้วยธุรกิจโชว์บิซที่เติบโตสูงถึง 113% ธุรกิจลิขสิทธิ์ที่เติบโต 19% ธุรกิจบริหารศิลปินและงานจ้างเติบโตขึ้น 10% และธุรกิจโรงเรียนดนตรีเติบโตขึ้น 12%

ขณะที่สัดส่วนรายได้หลักของ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค มาจากธุรกิจงานจ้างและ สปอนเซอร์ชิปมีสัดส่วนรายได้ที่ 40% ธุรกิจดิจิทัล 25% และธุรกิจโชว์บิซ 15% คาดว่าใน 5 ปีข้างหน้ารายได้จะเปลี่ยนสัดส่วนเป็นดิจิทัล 45% ธุรกิจงานจ้างและสปอนเซอร์ชิป รวมทั้งอื่นๆ รวม 55%