posttoday

นวัตกรรมอาหารลูกกุ้ง เพิ่มโอกาสส่งออก

21 มีนาคม 2562

นวัตกรรมระดับโลก กับ ไฮโดรเจลกักเก็บโปรตีนสำหรับอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์น้ำ

เรื่อง วราภรณ์ เทียนเงิน

นวัตกรรมระดับโลก กับ ไฮโดรเจลกักเก็บโปรตีนสำหรับอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์น้ำ” จากงานวิจัยไทย เพื่อสร้างอาหารสำหรับสัตว์น้ำแบบใหม่ โดยเฉพาะลูกกุ้ง ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกกุ้งอันดับต้นๆ ในโลก และการสร้างอาหารแบบใหม่นี้ จึงช่วยสร้างความแตกต่างให้แก่กุ้งไทย และเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตของประเทศ

“อิศรา สระมาลา” ทีมวิจัยกระบวนการระดับนาโนเพื่ออุตสาหกรรมเกษตร ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือนาโนเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ได้มีการร่วมทำวิจัยกับภาคเอกชนที่สนใจ ในการสร้างอาหารสำหรับสัตว์น้ำใหม่ ที่มีนวัตกรรมและตรงกับแนวโน้มตลาดโลก โดยเฉพาะสหภาพยุโรป หรืออียู ที่มีนโยบายเรื่อง “Zero Fish Meal” ที่ลดการใช้ปลามาเป็นวัตถุดิบในอาหารสัตว์ ทำให้ได้วิจัยมาสู่ “ไฮโดรเจลกักเก็บโปรตีนสำหรับอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์น้ำ”

“ไฮโดรเจลกักเก็บโปรตีนสำหรับอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์น้ำ” ใช้สำหรับการเลี้ยงลูกกุ้ง ทำให้อาหารดูดซึมเข้าร่างกายได้อย่างรวดเร็ว และย่อยได้ง่าย รวมถึงสามารถเติมสาระสำคัญและไขมันได้ อีกทั้งจะไม่ทำให้ในน้ำเน่าเสีย และมีต้นทุนที่ต่ำกว่าลงประมาณ 20% เมื่อเทียบกับอาหารสัตว์น้ำแบบทั่วไป จึงช่วยลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการได้

ขณะเดียวกันการเลือกใช้วัตถุดิบ ที่ไม่ได้มาจากปลาป่น แต่มาจาก “กากถั่วแทน” ถือเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ พร้อมกับการพัฒนาที่ใช้เทคโนโลยีไมโครเอ็นแคปซูเลชันพร้อมกับวัสดุเคลือบชนิดใหม่ เพื่อกักเก็บโปรตีนที่มีโมเลกุลขนาดเล็กโดยไม่มีการรั่วซึม รวมถึงช่วยเพิ่มค่าการดูดซึมให้กับลูกกุ้ง โดยการพัฒนาดังกล่าวถือว่า เป็นงานนวัตกรรมระดับโลก และตอบโจทย์ความต้องการของภาคเอกชน และภาคเกษตรกรไทย พร้อมกันนี้ยังส่งผลดีต่อภาคเอกชนในการส่งออกกุ้งไปตลาดในยุโรปได้เพิ่มขึ้น

ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการทดสอบกับการเลี้ยงลูกกุ้งจำนวน 6 ล้านตัว พบว่า อาหารไฮโดรเจลกักเก็บโปรตีน ช่วยให้ลูกกุ้งมีอัตราการรอดและอัตราการเจริญเติบโตสูง รวมถึงส่งผลดีต่อคุณภาพน้ำ จากอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (กรีน เทคโนโลยี) และทำให้กักเก็บสารอาหารที่สำคัญได้ตามเดิม

ทั้งนี้ จากการวิจัยดังกล่าวที่แล้วเสร็จและภาคเอกชนได้มีการเริ่มผลิตทำตลาดแล้ว รวมถึงสามารถขยายต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมสัตว์น้ำ ทั้งการเลี้ยงปลาแซลมอน และนำไปพัฒนาต่อยอดสำหรับการเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่ต้องใช้พื้นที่จำกัดและมีจำนวนการเลี้ยงจำนวนมากได้ เช่น การเลี้ยงรูปแบบคอนโด ไปจนถึงตลาดปลาสวยงามได้ในอนาคต โดยงานวิจัยนี้จะร่วมนำเสนอในงานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2562 หรือ NAC2019 จัดขึ้นวันที่ 25-28 มี.ค. 2562 ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี

เป็นการร่วมมือวิจัยจากนักวิจัยไทยและเอกชน สู่นวัตกรรมที่ตรงกับความต้องการในตลาดโลก และเลือกใช้วัตถุดิบจากในประเทศมาร่วมพัฒนา