posttoday

Learning Agility

16 มีนาคม 2562

โดย...ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ โค้ชผู้บริหารที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์โค้ชนานาชาติ กรรมการผู้จัดการบริษัท แอคคอมแอนด์อิมเมจอินเตอร์เนชั่นแนล

โดย...ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ โค้ชผู้บริหารที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์โค้ชนานาชาติ กรรมการผู้จัดการบริษัท แอคคอมแอนด์อิมเมจอินเตอร์เนชั่นแนล

Learning Agility เป็นหนึ่งในสมรรถนะที่สำคัญ ที่กูรูด้านการพัฒนาภาวะผู้นำ อย่างเช่น ดร.มาแชล โกลด์สมิท ได้กล่าวไว้ว่า เป็นสมรรถนะที่สำคัญของบุคคลในโลกของการเปลี่ยนแปลง

ผู้ที่มี Learning Agility มีคุณลักษณะอย่างไร หากอิงจากภาพยนตร์ ดิฉันนึกถึงตัวละคร แคตนิส เอฟเวอร์ดีน ซึ่งเป็นตัวละครหลักจากไตรภาคเกมล่าชีวิต แคตนิสอาสาเข้าแข่งขันในเกมและสนามประลองที่เธอไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เธอเรียนรู้และผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ และได้ชัยชนะมาด้วยการประยุกต์ใช้ประสบการณ์และไหวพริบ

เราสามารถสังเกตผู้ที่มี Learning Agility ได้เช่น เขาหรือเธอสามารถประยุกต์ใช้การเรียนรู้และประสบการณ์ได้อย่างรวดเร็ว (Speed) และมีความยืดหยุ่น (Flexibility) ในสถานการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย คลุมเครือ คาดการณ์ได้ยาก หรือสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอแบบไม่หยุดนิ่ง

การพัฒนาให้บุคคลมี Learning Agility อาจจะเป็นเรื่องง่ายดายสำหรับผู้ที่ชอบเรียนรู้ในสถานการณ์แปลกใหม่ แต่อาจใช้เวลามากขึ้นสำหรับผู้ที่ไม่ชอบสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง หรือสถานการณ์ที่คาดเดายาก

ดังนั้น การเตรียมความพร้อมให้บุคคลมี Learning Agility สามารถเริ่มจากการวิเคราะห์หรือประเมินสไตล์การเรียนรู้ (Learning Styles) ของบุคคลก่อน และสร้างการมีส่วนร่วมของบุคคลให้มากที่สุด เช่น กลุ่มที่ไม่ชอบเสี่ยงก็เริ่มจากการเรียนรู้ที่สามารถลองผิดลองถูกได้ในบรรยากาศที่ปลอดภัยก่อน ผู้ออกแบบการเรียนรู้จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทั้งผลลัพธ์ (Outcomes) และกระบวนการเรียนรู้ (Process)

นอกจากนั้น การออกแบบการเรียนรู้ในปัจจุบันจำเป็นต้องเร็วและทันกาล ในอดีตผู้เรียนจะมีส่วนร่วมก็ต่อเมื่อผู้ออกแบบได้ออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งใช้เวลาพอสมควร และผู้สอนก็นำมาถ่ายทอด และจากนั้นผู้เรียนก็ให้ข้อมูลสะท้อนกลับเพื่อการปรับปรุง

ในปัจจุบันกระบวนการเช่นนี้อาจจะช้าไปสำหรับข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว การออกแบบการเรียนรู้ควรดึงผู้เรียนเข้ามาร่วมค้นพบ (Discover) และออกแบบด้วยกัน (Design) ตั้งแต่ต้นทาง ร่วมกันสร้างต้นแบบ (Prototype) ขึ้นมาก่อน และทดสอบใช้งาน (Test) แล้วปรับเปลี่ยนจนมีความสมบูรณ์ สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและธุรกิจอย่างแท้จริง

ด้านบรรยากาศในการเรียนรู้ ปัจจุบันมีทางเลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้แบบเป็นทางการ (Formal) ในสภาพแวดล้อมห้องเรียน หรือไม่เป็นทางการ (Informal) เช่น การเรียนรู้นอกห้องเรียน อย่างไรก็ตามควรมีองค์ประกอบ 3 ข้อ หรือ 3M คือ

Motivating me to learn หมายถึง สร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนอยากเรียนและสนใจเรียนรู้

Meaningful to me & my roles หมายถึง สิ่งที่เรียนรู้มีคุณค่า ทันกาล มีความหมายหรือเกี่ยวข้องกับบทบาทและความต้องการของผู้เรียน หรือสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นได้

Making it memorable หมายถึง มีกลไกระหว่างการเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ที่ช่วยให้จดจำได้ง่าย

การสร้างสมรรถนะ Learning Agility ให้กับตนเอง ไม่จำเป็นต้องรอให้หัวหน้าหรือผู้อื่นนำโอกาสมาให้เรา เราสามารถพัฒนาสมรรถนะด้านนี้ให้กับตนเองได้ เช่น

ก้าวออกมานอก Comfort Zone ของเราบ้าง โดยอาสารับทำงานที่ท้าทาย และยังไม่เคยทำมาก่อน

เข้าร่วมโครงการที่อาจจะอยู่นอกของเขตงานตนเอง แต่ทำให้ได้ลองประยุกต์ใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาในบรรยากาศใหม่ๆ

ร่วมงานกับทีมหรือกลุ่มลูกค้าที่มีวัฒนธรรมแตกต่างหลากหลาย

มองหาโค้ชหรือพี่เลี้ยง ที่สามารถช่วยสนับสนุนให้เราได้มีโอกาสเก็บเกี่ยวประสบการณ์หรือบทเรียนแปลกใหม่ และให้ข้อมูลสะท้อนกลับ (Feedback) กับเราอย่างตรงไปตรงมาและสม่ำเสมอ