posttoday

วีพีเอฟ กรุ๊ป นำเทคโนโลยีหนุนธุรกิจ

15 กุมภาพันธ์ 2562

วีพีเอฟ กรุ๊ป โมเดลความสำเร็จจากเกษตรกรสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมจำหน่ายเนื้อสุกรแบบครบวงจร ด้วยการใช้เทคโนโลยีเสริมความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

วีพีเอฟ กรุ๊ป โมเดลความสำเร็จจากเกษตรกรสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมจำหน่ายเนื้อสุกรแบบครบวงจร ด้วยการใช้เทคโนโลยีเสริมความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

วรพงษ์ จีระประภาพงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายผลิต บริษัท วี แอนด์ พี เฟร็ช ฟูดส์ ในเครือบริษัท วีพีเอฟ กรุ๊ป 1973 ผู้จำหน่ายเนื้อสุกรตัดแต่ง แช่เย็น-แช่แข็งครบวงจร เปิดเผยถึงการนำเทคโนโลยีมาช่วยปรับใช้ในธุรกิจ ว่า จุดเริ่มต้นของเครือบริษัท วีพีเอฟ กรุ๊ป มาจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่มีพ่อพันธุ์ 1 ตัว แม่พันธุ์เพียง 4 ตัว ในปี 2016 จนกระทั่งปัจจุบันมีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ถึง 1.2 หมื่นตัว

“จุดแข็งของเราคือมุ่งเน้น เรื่อง Food Safety ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับโลก อาหารทุกจานที่มาจากเราสามารถสืบต่อย้อนกลับไปได้ว่ามาจากฟาร์มสาขาไหน ผลิตเมื่อไหร่

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา วีพีเอฟ กรุ๊ป ได้เรียนรู้และมีการนำเข้าเทคโนโลยีใหม่ๆ จากทั้งในและนอกประเทศ เพื่อพัฒนาธุรกิจอย่างไม่หยุดนิ่ง ถือเป็นการเรียนรู้ในรูปแบบ Learning by Doing ที่องค์กรได้ปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันต่อเทคโนโลยีอยู่เสมอ

วรพงษ์ กล่าวว่า ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเลี้ยงสุกร เริ่มจากระบบในฟาร์ม โดยปรับรูปแบบจากการใช้แรงงานคนมาเป็น Automatic Feed Line คือระบบการจ่ายอาหารจากจุดเดียวไปยังกว่า 20 โรงเรือน ซึ่งทำให้สามารถเลี้ยงสุกรได้ประมาณ 2 หมื่นตัวแบบอัตโนมัติ ซึ่งต่อมาได้นำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการตั้งแต่ทรัพยากรบุคคลไปจนถึงการใช้ทรัพยากรทั้งหมดภายในฟาร์ม อาทิ ระบบจัดการของเสีย เช่น Biogas สร้างเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพเพื่อใช้ในโรงเลี้ยงสุกร ระบบ Evaporative cooling pad เป็นระบบโรงเรือนที่ให้ความเย็นและการรักษาอุณหภูมิแก่สุกร เป็นต้น

ระบบบริหารจัดการในเรื่องฟาร์มของวีพีเอฟ กรุ๊ป ทำให้สามารถลดต้นทุนในการผลิต และได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตจากทั้งในและต่างประเทศ

“การนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้นอกจากการควบคุมมาตรฐานการผลิตได้แล้ว การเชื่อมโยงข้อมูลกับต่างประเทศก็สะดวกยิ่งขึ้น จากเดิมเวลาที่เคยมีปัญหาแล้วต่างประเทศต้องบินมาแก้ไข ปัจจุบันก็สามารถคอนโทรลได้ด้วยการรีโมทระยะไกลได้เป็นต้น”

นอกจากนี้ ยังสามารถเก็บข้อมูล เก็บสถิติที่เกี่ยวข้องทุกอย่างไว้ และนำระบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น WMS การบริหารระบบคลังสินค้าทั่วไป ระบบ Back Office ระบบบัญชี ระบบการบริหารจัดการในส่วนต่างๆ เข้ามาเชื่อมโยงข้อมูลกันเป็น Big Data เพื่อนำมาวิเคราะห์ตามกระบวนการเป็น Big Data Analytics ภายหลัง

ทั้งนี้ ระบบซัพพอร์ตการทำงานในแผนกต่างๆ ของ วีพีเอฟ กรุ๊ป เปรียบเสมือนอาคารแต่ละอาคารที่มีการทำงานที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่จะเชื่อมต่ออาคารเหล่านั้นได้คือถนน บริการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงจาก CAT ที่เราใช้บริการอยู่ เปรียบเสมือนถนนซูเปอร์ไฮเวย์ที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ มีเสถียรภาพสูง ทำให้การทรานเฟอร์ข้อมูลที่มีขนาดใหญ่และมีความเรียลไทม์สูง จึงเป็นข้อได้เปรียบทางธุรกิจ ทำให้สามารถบริหารจัดการ รันระบบ รันโปรแกรมต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว

“ปัจจุบันแม้เราเป็น Smart Farm ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานแล้ว แต่เราจะพยายามผลักดันวีพีเอฟกรุ๊ป ให้เป็นธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตการเลี้ยงสุกรครบวงจรอันดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งในอนาคตเราจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามายกระดับอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุปกรณ์ IoT, Big Data, Business Intelligence เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับผู้บริโภคทั้งในประเทศและทั่วโลกอย่างยั่งยืน” วรพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย