posttoday

ผลิตเอทานอล จากกากน้ำตาล-มันสำปะหลัง

14 กุมภาพันธ์ 2562

การทำวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) และการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมคือสิ่งสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรไทย

เรื่อง วราภรณ์ เทียนเงิน

การทำวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) และการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมคือสิ่งสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรไทย ที่ต้องยกเครื่องใหม่ ทำให้หน่วยงานภาครัฐไทย ทั้งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เพิ่มมูลค่าให้แก่กากน้ำตาลและมันสำปะหลัง

“สายันต์ ตันพานิช” รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า วว.ได้ร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ทำโครงการ พัฒนาเพิ่มผลผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล โดยผลการวิจัยสามารถผลิตเอทานอลด้วยการใช้ความเข้มข้นของสารตั้งต้นสูง ทำได้จากวัตถุดิบจากทั้งกากน้ำตาลและมันสำปะหลัง ส่งผลต่อการเพิ่มกำลังการผลิตเอทานอลและลดต้นทุนในการผลิต

ตามแผนของประเทศไทยกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP2015) ได้กำหนดเป้าหมายส่งเสริมการผลิตและใช้เอทานอลให้ได้ 11.3 ล้านลิตร/วัน ภายในปี 2579 และปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานผลิตเอทานอลรวม 26 โรงงาน มีกำลังการผลิตรวม 5.79 ล้านลิตร/วัน และมีการใช้เอทานอลในประเทศช่วงปีก่อน (ม.ค.-พ.ย. 2561) รวม 4.16 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 5.6% จากปีก่อนหน้านี้ จึงจำเป็นต้องมีการทำวิจัยและพัฒนา เพื่อทำให้การผลิตเอทานอลของไทยเป็นไปอย่างยั่งยืน

“พพ.ได้ร่วมกับ วว. ภายใต้การสนับสนุนการวิจัย จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตเอทานอล ในปัจจุบันโครงการวิจัยได้ดำเนินการสำเร็จแล้ว” สายันต์ กล่าว

นักวิจัยของ วว. ระบุว่า ประเทศไทยมีทรัพยากรทางชีวภาพจำนวนมาก สามารถที่จะผลิตเชื้อยีสต์ที่มีศักยภาพในการผลิตเอทานอล เทียบเท่ากับยีสต์อุตสาหกรรมที่นำเข้าจากต่างประเทศได้ ดังนั้นประเทศไทยควรส่งเสริมการวิจัยทางชีวภาพและลงทุนในด้านนี้มากขึ้น เพื่อขยายสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรม และจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่อุตสาหกรรมชีวภาพ (ไบโออีโคโนมี) ของประเทศไทยในระยะยาว

“พงศธร ประภักรางกูล” นักวิจัยอาวุโส ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ วว. กล่าวว่า การทำวิจัยในครั้งนี้เพื่อร่วมส่งเสริมการใช้เอทานอลในประเทศไทย และการร่วมสร้างเกษตรกรไทยให้มีความยั่งยืน ที่ต้องมีการส่งเสริมด้านต้นน้ำด้วย เพื่อทำให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น และจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ภาคเกษตรกรในระยะยาว

“โครงการเพิ่มผลผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง และโครงการเพิ่มผลผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล ที่จะส่งผลต่อการผลิตเอทานอลให้แก่ประเทศไทยมีความยั่งยืน และทำให้ลดต้นทุนในการผลิตลง พร้อมกับการพัฒนาเชื้อยีสต์ให้เหมาะสมกับภาคอุตสาหกรรม โดยผู้ประกอบการไทยอาจจะต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อปรับระบบการผลิตใหม่” พงศธร กล่าว

ผลิตเอทานอล จากกากน้ำตาล-มันสำปะหลัง

ผลิตเอทานอล จากกากน้ำตาล-มันสำปะหลัง