posttoday

องค์กรเพื่อคนทุกวัย

09 กุมภาพันธ์ 2562

โดย...ดร. อัจฉรา จุ้ยเจริญ Chief Learning Officer – บริษัทแอคคอมแอนด์อิมเมจ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

โดย...ดร. อัจฉรา จุ้ยเจริญ Chief Learning Officer – บริษัทแอคคอมแอนด์อิมเมจ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

“องค์กร” ประกอบด้วยคนทุกเพศและทุกวัย ในการเปลี่ยนแปลงที่สำเร็จและรวดเร็วในยุคดิจิทัล จำเป็นต้องใช้ความร่วมมือและการประสานงานกันที่ราบรื่นของคนทุกรุ่นทุกวัย

องค์กรต่างๆ มีความตระหนักว่า คนแต่ละวัยมีค่านิยมและแรงจูงใจที่เหมือนและต่างกัน ในการศึกษาด้านการโค้ช โดยสหพันธ์โค้ชนานาชาติ (International Coach Federation หรือ ICF) ครั้งหนึ่งใน ปี 2017 ให้ความสนใจไปที่ผู้นำน้องใหม่ นั่นคือกลุ่มมิลเลนเนียล (Millennials) ซึ่งเกิดในช่วงปี 1982-1996

เนื่องจากผู้บริหารรุ่นพี่ทยอยเกษียณจากองค์กรไป โดยเฉพาะกลุ่ม Baby Boomers อีกทั้งมีการคาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2025 บุคลากรประมาณ 75% ขององค์กรจะเป็นบุคลากรกลุ่มมิลเลนเนียล (Millennials) สหพันธ์โค้ชนานาชาติจึงให้ความสนใจว่า กลุ่มมิลเลนเนียลมีมุมมองด้านการโค้ชหรือการพัฒนาตนเองอย่างไรบ้าง และยังได้ค้นพบข้อมูลที่น่าสนใจอีกด้วยว่า กลุ่มมิลเลนเนียลให้ความสำคัญหรืออยากได้รับอะไรจากการทำงาน และแตกต่างจากรุ่น Baby Boomer และ Gen X อย่างไรบ้าง

จากผลการศึกษาในระดับนานาชาติครั้งนี้ได้พบว่า กลุ่มมิลเลนเนียล ซึ่งแบ่งออกเป็นอีกสามกลุ่มย่อยคือ หนึ่งรุ่นเยาว์ ปัจจุบันอายุประมาณ 23-26 ปี สองรุ่นกลาง ปัจจุบันอายุประมาณ 27-32 ปี และรุ่นใหญ่ ปัจจุบันอายุประมาณ 33-37 ปี ทั้งสามกลุ่มให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยากได้รับจากการทำงานเหมือนๆ กัน โดยเฉพาะสามอันดับแรก คือ หนึ่ง ได้รับโอกาสในการพัฒนาความสามารถของตนเอง สอง ได้รับโอกาสในความก้าวหน้าในการทำงาน และสาม คือสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีความยืดหยุ่น

การศึกษานี้ยังได้พบด้วยว่า ไม่ใช่เพียงกลุ่มมิลเลนเนียลเท่านั้น แต่ Gen X (เกิดในช่วงปี 1965-1981 ปัจจุบันอายุประมาณ 38–54 ปี) ก็ให้ความสำคัญกับสามเรื่องนี้ไม่แพ้กัน โดยสำหรับ Gen X มองว่า ความยืดหยุ่นในการทำงานสำคัญเป็นอันดับแรก (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ “Building a Coaching 0Culture with Millennial Leaders” - https://coachfederation.org/)

สำหรับองค์กรเพื่อคนทุกวัย มักจะเป็นองค์กรที่หมั่นศึกษาความเหมือนหรือแตกต่างกันของบุคลากรของตนเอง และให้ความสำคัญกับความร่วมมือและการร่วมงานกันด้วยบรรยากาศที่ดีของคนทุกวัย สังเกตได้จากปัจจัยหรือโปรแกรมต่างๆ เช่น

ในด้านการให้ข้อมูลความรู้ มีการจัดอบรมเรื่องความหลากหลาย (Diversity) เพื่อให้เกิดความเข้าใจในความเหมือนและต่างในค่านิยม และวิธีการปฏิบัติงาน ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจและให้อภัยกัน ลืมไม่ได้ว่า หนึ่งในความเครียดที่มาจากการทำงานคือ ความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน และความเครียดที่ยาวต่อเนื่องอาจส่งผลต่อผลิตภาพของคนทำงานได้

ในด้านปฏิสัมพันธ์ มีการส่งเสริมให้คนทุกวัยได้มีปฏิสัมพันธ์และรู้จักกันมากขึ้น จัดโปรแกรมและสถานที่ที่เอื้ออำนวยการพบปะของคนระหว่างวัย หรือเพื่อความสะดวกในการให้รุ่นน้องได้พูดคุยหรือปรึกษากับรุ่นพี่ ซึ่งอาจเป็นในฐานะพี่เลี้ยง หรือเป็นหัวหน้าโดยตรง

ในด้านความเท่าเทียมกัน เปิดโอกาสให้กับทุกวัยเท่าๆ กันในการแสดงความคิดเห็นในการพัฒนาความสามารถและความก้าวหน้าในงาน ออกแบบ
สิ่งแวดล้อมและบรรยากาศในที่ทำงานที่เหมาะสมกับคนทุกวัย ให้ทักษะการโค้ชกับผู้บริหารรุ่นพี่ เพื่อจะได้มีความมั่นใจในการถ่ายทอดสิ่งที่เป็นประโยชน์และช่วยพัฒนาศักยภาพให้รุ่นน้อง

ในด้านการตอบแทน มีการปรับผลตอบแทนหรือสวัสดิการที่ตรงกับรูปแบบการใช้ชีวิตที่ต่างกันของคนแต่ละวัย

ในด้านกฎระเบียบที่ผ่านมา มีการปรับให้สอดคล้องกับแรงจูงใจของคนแต่ละวัย เช่น สำหรับ Gen X ซึ่งให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นในการทำงานเป็นอันดับแรก ก็เปิดโอกาสให้ทำงานจากที่บ้านได้บ้าง โดยไม่ต้องนั่งอยู่ในสำนักงานเป็นประจำ

ช่วงนี้เจอฝุ่นตลบกลบท้องฟ้าไปทั่ว แต่ถ้าเดินเข้าที่ทำงานแล้วมีความสุข สดใส ไม่ว่าจะทำงานกับคนรุ่นไหน วัยใด ก็สนุกและคุยกันได้ราบรื่น ใครๆ ก็อยากมาทำงานในบรรยากาศเช่นนี้นะคะ