posttoday

นวัตกรรมยางพารา เพิ่มรายได้

24 มกราคม 2562

ยางพาราเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของไทย โดยเฉพาะหากเป็นการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

ยางพาราเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของไทย โดยเฉพาะหากเป็นการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) จึงดำเนินการโครงการ “SME-D Scaleup Rubber Innovation ติดปีกธุรกิจยางพาราด้วยนวัตกรรม” เพื่อสร้างเครือข่ายสตาร์ทอัพผลักดันการสร้างนวัตกรรมยางพาราในประเทศไทย

มงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวว่า โครงการ “SME-D Scaleup Rubber Innovation ติดปีกธุรกิจยางพาราด้วยนวัตกรรม” เป็นความร่วมมือกันระหว่างธนาคารและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการยางพาราไทย ด้วยนวัตกรรมเสริมองค์ความรู้และเน้นทำการตลาดออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมยางพาราไทยมาถ่ายทอดประสบการณ์ ตลอดจนอบรมด้านบัญชี ทรัพย์สินทางปัญญา การสร้างนวัตกรรมให้กับสินค้า ช่องทางการตลาด และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 4 ด้าน คือ 1.สินค้าที่ผลิตจากโครงการ สามารถสร้างยอดขายเพิ่มขึ้น 2.ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมที่สร้างรายได้อย่างเป็นรูปธรรม 3.ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา 4.ยกระดับมาตรฐานให้สินค้าสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ 5.เพิ่มช่องทางการตลาดใหม่ๆ และ 6.เกิดเครือข่ายแปรรูปยางพาราจากทั่วประเทศ นำสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ ผลักดันรายได้ให้เพิ่มขึ้น

สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 51 ราย สามารถเพิ่มยอดขายมากกว่า 43.75 ล้านบาท และลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่า 1.2 แสนบาท สร้างทรัพย์สินทางปัญญา 7 ราย และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ 5 ราย โดยในระยะเวลา 6 เดือน สามารถต่อยอดใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น 0.322 กิโลกรัม

นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวผู้ประกอบการที่เข้าอบรม 51 ราย จากเดิมมีการใช้ยางพารารวมกันประมาณ 6.454 ล้านกิโลกรัม ยังสามารถต่อยอดการใช้ยางพาราเพียงแค่ระยะเวลา 6 เดือน เพิ่มขึ้น 0.322 ล้านกิโลกรัม เพื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากยางพาราต่างๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้โครงการจะเกิดขึ้นไม่ถึงปี (พ.ค.-ธ.ค.2561) แต่สามารถสร้างสินค้าจากนวัตกรรมยางพาราไทยได้ถึง 12 ผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างสตาร์ทอัพจากโครงการที่ประสบความสำเร็จ เช่น หจก.หาดใหญ่รับเบอร์เทค ผู้ผลิตพรมละหมาดจากยางพาราเพิ่มอัตลักษณ์ผ้าทอมือชาวเกาะยอ ในระยะไม่ถึง 1 ปี สร้างรายได้ยอดขายเพิ่มขึ้น 1,000% คิดเป็นวงเงินกว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีธุรกิจหมอนยางพาราหลายกิจการ ผลิตภัณฑ์จอกยางพารา และผลิตภัณฑ์แปรรูยางพาราอื่นๆ ยอดขายเพิ่มขึ้นระหว่างตั้งแต่ 10% ไปจนถึง 100% เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับอนุมัติสินเชื่อจาก ธพว.ไปแล้ว 12 ราย วงเงินเกือบ 20 ล้านบาท และมีผลิตภัณฑ์ต้นแบบนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้น เช่น แผ่นรองเท้าแบบเต็มฝ่าเท้า น้ำยางครีมมิ่ง หมอนยางผสมชาร์โคล หมอนที่เติมสารให้ประจุลบ เสื่อโยคะ บรายางพาราแท้ 100% สำหรับสตรี ยางลอกลาย 3 มิติ ถุงเพาะชำย่อยสลายและกักเก็บความชื้น พัฟฟ์แต่งหน้าจากยางพารา ยางออกกำลังนิ้ว รองเท้าบู๊ตยางพารา น้ำหนักเบา เกาะยึดได้ดี และแผ่นรองเท้าแบบยางเคลือบผ้ากระสอบ เป็นต้น ซึ่งสามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และยกระดับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารานำรายได้สู่ประเทศต่อไป