posttoday

ผ่ากลยุทธ์'อินฟลูเอนเซอร์' สร้างรับรู้-ปิดยอดขายปีหมู

10 มกราคม 2562

กลยุทธ์การตลาด เทรนด์ที่กำลังมาในปี 2562 พลังของการใช้ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ หนึ่งในกลยุทธ์ช่วยการโน้มน้าวใจผู้บริโภคด้วยสูตร 3 ช. เริ่มตั้งแต่ การชอบ การเชื่อ และไปสู่การช็อปปิ้ง

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

กลยุทธ์การตลาดนับตั้งแต่ปี 2558 จากการ Buzz Marketing หรือการตลาดแบบผึ้งที่กำลังแตกรัง ต่อมาปี 2559 เข้าสู่ยุคโซเชียลมีเดียมาร์เก็ตติ้ง และเทรนด์ที่กำลังมาในปี 2562 พลังของการใช้ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ หนึ่งในกลยุทธ์ช่วยการโน้มน้าวใจผู้บริโภคด้วยสูตร 3 ช. เริ่มตั้งแต่ การชอบ การเชื่อ และไปสู่การช็อปปิ้ง

บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาดวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า เทรนด์การตลาดออนไลน์เริ่มแพร่หลายและเริ่มพัฒนามาสู่การใช้ผู้มีอิทธิพลหรืออินฟลูเอนเซอร์ โดยปี 2562 จะเป็นปีทองของ "ไมโครอินฟลูเอนเซอร์" ที่มียอด ผู้ติดตามระหว่าง 1 หมื่น-1 แสนคน มีแนวโน้มว่าจะเป็นผู้ทรงอิทธิพลและ ได้รับการยอมรับ สำหรับการดำเนิน กลยุทธ์อินฟลูเอนเซอร์ นักการตลาดต้องเข้าใจพื้นฐานของผู้บริโภค เพื่อการตัดสินใจการทำกลยุทธ์ที่เหมาะสม

ทั้งนี้ การทำตลาดออนไลน์ผ่าน อินฟลูเอนเซอร์ที่ช่วยสร้างความน่าสนใจ เอกลักษณ์ และความแตกต่างของ ธุรกิจ ในปี 2562 นำเสนอภายใต้กลยุทธ์ซี้ด (Seed) ประกอบด้วย 1) ความจริงใจ (Sincere) ปัจจุบันผู้บริโภคมีช่องทาง ได้รับข้อมูลมากมาย และรู้เท่าทันการสื่อสารการตลาด นักการตลาดจึงควรเลือกใช้สื่ออินฟลูเอนเซอร์ที่มีคาแรกเตอร์เป็นตัวของตัวเองและเป็นธรรมชาติ

ในส่วนกลยุทธ์ 2) ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Expertise) การรีวิวที่ประสบความสำเร็จ จนนำมาสู่การตัดสินใจ ซื้อสินค้าและบริการ นักการตลาดควรพิจารณาเลือกผู้ที่สามารถให้มากกว่าเพียงความรู้พื้นฐาน แต่ต้องมีความรู้และความถนัดเฉพาะด้านที่ตรงกับธุรกิจ

บุญยิ่ง กล่าวถึงกลยุทธ์ที่ 3) การเข้าถึง (Engagement) จำนวนผู้ติดตามมาก ไม่ได้สะท้อนการสื่อสารตลาดที่มีประสิทธิภาพ นักการตลาดจึงควรศึกษาการเข้าถึงบนช่องทางอินฟลูเอนเซอร์ โดยควรมีผู้ติดตาม กดถูกใจ หรือกดไลค์ กดแชร์ และแสดงความคิดเห็น รวมเป็น 5% ของจำนวนผู้ติดตามทั้งหมด

ขณะที่กลยุทธ์ 4) ท่ามกลางกลุ่มผู้มีอิทธิพลบนโลกโซเชียลมีเดียที่มีจำนวนมาก นักการตลาดต้องดำเนินความแตกต่าง (Different) การสื่อสารการตลาดที่สร้างความแตกต่างให้กับ ผู้บริโภค ต้องพิจารณาถึงเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและแตกต่างของสื่อกลางการสื่อสารที่ตรงกับบุคลิกของแบรนด์ธุรกิจ

สำหรับรูปแบบเนื้อหาและช่องทาง การสื่อสาร พบว่าเนื้อหาหรือคอนเทนต์รีวิวสินค้ารูปแบบวิดีโอเคลื่อนไหว มีประสิทธิภาพมากกว่าใช้รูปภาพ และ รูปแบบข้อความอยู่อันดับสุดท้าย ช่องทางโซเชียลมีเดียที่เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค 3 อันดับแรก เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และยูทูบ ส่วนที่มินิอินฟลูเอนเซอร์เป็นผู้ที่น่าจับตามองว่าจะเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพล แม้ว่าจะมีผู้ติดตามไม่ถึง 1 หมื่นคน แต่เป็นผู้คนที่อยู่รอบๆ ตัวเรา

ทิศทางการใช้สื่อออนไลน์ในปีนี้ คาดเติบโต 25-30% หรือเกือบแตะ 2 หมื่นล้านบาท จากปี 2561 มูลค่าสื่อโฆษณาออนไลน์ 1.5 หมื่นล้านบาท สำหรับการตลาดผ่านผู้มีอิทธิพลบนโลกโซเชียลมีเดียหรืออินฟลูเอนเซอร์ ไม่ต่างจากโฆษณาสินค้า เพียงแต่เลือกใช้ผู้อื่นเป็นผู้โน้มน้าว ซึ่งยังเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยทั้งการสร้างการรับรู้ เข้าถึงกลุ่มลูกค้า และสร้างยอดขายได้ดีสำหรับปีนี้