posttoday

สภาเอสเอ็มอี ลุยสร้างแบรนด์ทุกจังหวัด

09 มกราคม 2562

จากการเห็นปัญหาของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่เรื้อรังมายาวนานกว่า 18 ปี มีผลให้เอสเอ็มอีไทยยังไม่เติบโต

เรื่อง วราภรณ์ เทียนเงิน

จากการเห็นปัญหาของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่เรื้อรังมายาวนานกว่า 18 ปี มีผลให้เอสเอ็มอีไทยยังไม่เติบโต ทำให้ “สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย” หรือสภาเอสเอ็มอี ได้ผลักดันสร้างแบรนด์ผู้ประกอบการในแต่ละจังหวัด พร้อมเชื่อมโยงการร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน

“ไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์” ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย หรือสภาเอสเอ็มอี เปิดเผยว่าได้จัดทำแผนขับเคลื่อนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในโครงการ “เอสเอ็มอี สมาร์ท พรอฝ-อินซ” (SMEs Smart Province) โดยสภาเอสเอ็มอีจะร่วมขับเคลื่อนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่านการบูรณาการทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงทั้งการตลาด แหล่งเงินทุน และองค์ความรู้

ทั้งนี้ โครงการที่สภาเอสเอ็มอีจะดำเนินการ มีทั้งการสร้างแบรนด์ Province ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแต่ละจังหวัด ได้นำร่องกับ จ.สกลนคร ในการจัดทำ สกลนคร โปรวินซ์ ที่นำสินค้าโดดเด่นของจังหวัดทั้งผ้าคราม เนื้อโคขุน และมัลเบอร์รี่ นำมาพัฒนาให้อยู่ภายใต้
รูปแบบเดียวกันเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัด และสร้างคุณภาพมาตรฐานเดียวกันทำให้ผู้บริโภครู้จัก ต่อไปจะขยายสู่ จ.ลำปาง และนนทบุรีต่อไป ถือว่าการทำแบรนด์ Province มีรูปแบบใกล้เคียงกับประเทศญี่ปุ่น ยกตัวอย่างฮอกไกโดที่มี “ฮอกไกโด เมลอน” เป็นสินค้าแบรนด์ชื่อดังของจังหวัด

“สภาเอสเอ็มอีพร้อมเป็นแกนในการเชื่อมโยงความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชนในทุกจังหวัด เพื่อร่วมขับเคลื่อนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี”ไชยวัฒน์ กล่าว

ขณะเดียวกันสินค้าของผู้ประกอบการในแบรนด์ Province ของแต่ละจังหวัด ได้มีการหารือร่วมกับบริษัท ประชารัฐในการส่งเสริมช่องทางการตลาดผ่านช็อปของประชารัฐที่มีอยู่ในแต่ละจังหวัด รวมถึงการทำตลาดผ่านออนไลน์ด้วย เพื่อให้สามารถเจาะกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวได้ในแต่ละพื้นที่

อีกทั้งเตรียมหารือกับบริษัท ทีวีไดเร็ค ที่ทำธุรกิจทีวีไดเร็ค ในการนำสินค้าของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในแต่ละจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการสร้างแบรนด์ พรอฝ-อินซ มานำเสนอสินค้าผ่านช่องทางดังกล่าว ในการร่วมคัดเลือกสินค้าที่มีศักยภาพ และมีจุดเด่น เอกลักษณ์ (ยูนีก) ไม่เหมือนใคร โดยการเลือกเป็นพันธมิตรกับบริษัท ทีวี ไดเร็ค เนื่องจากมีช่องทางทำตลาดสินค้าทั้งในประเทศไทยและในประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ ส่งผลให้สินค้าของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้มีช่องทางทำตลาดสู่ลูกค้าต่างประเทศ

นอกจากนี้ กำลังหารือกับ ช็อป ชาแนล ที่เป็นทีวีช็อปปิ้งของประเทศญี่ปุ่น ร่วมมือคัดเลือกสินค้าของกลุ่มผู้ประกอบการที่มีเอกลักษณ์ และมีจุดเด่นที่แตกต่าง นำไปทำตลาดที่ประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะเริ่มต้นได้ในปี 2562 เช่นกัน

“ไชยวัฒน์” กล่าวต่อว่า ยังมีแผนขับเคลื่อนผู้ประกอบการ ที่จะผลักดันผู้ประกอบการให้จดทะเบียนเข้าสู่ระบบให้ได้จำนวน 5 แสนรายใน 5 ปีข้างหน้า และให้ได้จำนวน 1 ล้านรายในระยะเวลา 10 ปี จากปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยรวม 3 ล้านราย แบ่งเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 4.68 แสนราย และมีผู้ประกอบการกว่า 2.6 ล้านรายไม่จดทะเบียน ซึ่งจะร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันการเงิน ร่วมส่งเสริมเข้าระบบและทำบัญชีเดียว

ทั้งนี้ การเข้าระบบของผู้ประกอบการ ทำให้เกิดการสร้างธุรกิจที่เติบโตสู่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ และมีผลกระตุ้นต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว