posttoday

วงการค้าปลีกป่วน ปลุก5เทรนด์รับมือ

09 มกราคม 2562

ความผันผวนของวงการค้าปลีกที่เกิดขึ้นทำให้เกิด 5 เทรนด์หลักในการทำการตลาด เพื่อเจาะพฤติกรรมของผู้บริโภค

โดย....จะเรียม สำรวจ

ตลอดปี 2561 ที่ผ่านมา หลายคนคงได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการปิดตัวของห้างค้าปลีกในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มากถึง 8,828 แห่ง ส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนกในวงการค้าปลีกเป็นอย่างมาก เพราะขนาดร้านค้าปลีกชื่อดังอย่าง Macy, Gap, Toys R us, Walgreen และ Best buy ยังต้องปิดตัวไปภายหลังจากถูกเทคโนโลยีดิสรัปชั่น ส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปช็อปปิ้งออนไลน์กันมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ในขณะที่ค้าปลีกออฟไลน์ในสหรัฐอเมริการายใหญ่ต่างพากันทยอยปิดกิจการ ในฝั่งของค้าปลีกออนไลน์กลับหันมาเปิดตัวร้านค้าปลีกในโลกออฟไลน์เพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคที่ต้องการชม สินค้าจริงได้มีทางเลือก และตัดสินใจ ซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น เห็นได้จากการที่ยักษ์ อี-คอมเมิร์ซอย่างแอมะซอน ที่ออกมา เปิดตัวร้านแอมะซอน โก และ แอมะซอน บุ๊กสโตร์ ซึ่งจากแนวโน้มที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ปี 2561 ที่ผ่านมา มีร้านค้าปลีกในสหรัฐอเมริกาเปิดใหม่มากถึง 12,663 แห่งทั่วประเทศ

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้นักการตลาดและวงการค้าปลีก ทั่วโลกต้องหันมาปรับกลยุทธ์ในการทำตลาดให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของ ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งความผันผวนของวงการค้าปลีกที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้เกิด 5 เทรนด์หลักในการทำการตลาด เพื่อเจาะพฤติกรรมของผู้บริโภคดังนี้

เริ่มจากเทรนด์ที่ 1 Shadow Shopping หรือการทำการตลาดเหมือนเงาตามตัวผู้บริโภค เพราะนับจากนี้ไปจะไม่มี Window Shopping ที่จะมาปิดโอกาสทางการขายอีกแล้ว หากนักการตลาดงัดกลยุทธ์ออกมาใช้ได้ถูกจังหวะ

เทรนด์ที่ 2 คือ Sellrounding พื้นที่การขายจะไม่ได้อยู่แค่ในออนไลน์หรือออฟไลน์เท่านั้น เพราะพื้นที่รอบตัว ผู้บริโภคสามารถนำมาเป็นพื้นที่ขายได้ทั้งหมด จะเห็นได้ว่าปัจจุบันเริ่มมีป๊อป อัพสโตร์ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อทำการขายสินค้ามากขึ้น 3.Syntail หรือการผสมพันธุ์ทางการค้า นับจากนี้ไปผู้ค้าต่างสายธุรกิจจะมีการจับมือร่วมกัน เพื่อให้เข้าถึงผู้ซื้อในทุกๆ ขั้นตอนและทุกช่องทางมากขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค

ในส่วนของเทรนด์ที่ 4 คือ Self Control นับจากนี้ไปผู้บริโภคจะเป็น ผู้ควบคุมการซื้อด้วยตัวเอง เห็นได้จากปัจจุบันห้างค้าปลีกหลายแห่งเริ่มให้ลูกค้าสามารถช็อปปิ้งแบบตัดเงินอัตโนมัติ หรือมีช่องชำระเงินให้ผู้บริโภคเป็นผู้คิดค่าสินค้าด้วยตัวเอง และ 5.Sentimental Data ใช้ข้อมูลของผู้บริโภคเป็นอินฟลูเอนเซอร์ เพราะผู้บริโภคเชื่อตัวเองมากกว่าดาราหรือโฆษณา

สำหรับประเทศไทย เริ่มมีผู้ประกอบการค้าปลีกนำกลยุทธ์ดังกล่าวเข้ามาให้บริการบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเปิดร้านในรูปแบบป๊อปอัพสโตร์ ผู้ค้าต่างธุรกิจที่หันมาจับมือกันเพื่อต่อยอดในด้าน ของบริการ โดยเฉพาะการจัดส่งสินค้าที่ปัจจุบันแต่ละรายต่างต้องการลดระยะเวลาในการจัดส่ง หรือการที่ซูเปอร์มาร์เก็ตมีการเพิ่มช่องทางพิเศษให้กับลูกค้าได้คิดราคาสินค้าและชำระเงินด้วยตัวเอง

กลยุทธ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นหนึ่งในการปรับตัวของผู้ประกอบการค้าปลีกไทย ซึ่งนอกจาก 5 เทรนด์ที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว นักการตลาดยังคงต้องศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคต่อไปอย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาปรับใช้ให้ถูกทาง