posttoday

'ทีวี Box'ละเมิดลิขสิทธิ์ ถล่มแพลตฟอร์มถูกกม.ใกล้ตาย

19 ธันวาคม 2561

คนไทยดูหนังหรือรายการทีวีละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านทีวีบ็อกซ์ (TV Box) มากขึ้น ทำให้บริการโทรทัศน์ถูกกฎหมายกำลังจะเจ๊ง

คนไทยดูหนังหรือรายการทีวีละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านทีวีบ็อกซ์ (TV Box) มากขึ้น ทำให้บริการโทรทัศน์ถูกกฎหมายกำลังจะเจ๊ง

จากผลสำรวจล่าสุดของ YouGov พบว่าคนไทยดูหนังหรือรายการทีวีละเมิดลิขสิทธิ์ ผ่านทีวีบอกซ์ (TV Box) มากขึ้น ซึ่งทีวี Box คือ อุปกรณ์สตรีมมิ่งผิดกฎหมาย (Illicit Streaming Devices : ISDs) หรือที่รู้จักในชื่อ กล่องแอนดรอยด์หรือกล่อง IPTV ที่ผู้ใช้สามารถชมรายการโทรทัศน์และวิดีโอออนดีมานด์แบบละเมิดลิขสิทธิ์ได้ โดยอาจจะมีการเก็บค่าใช้บริการทั้งแบบรายเดือนและรายปี โดยการสำรวจของ YouGov ได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรเพื่อการต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ (Coalition Against Piracy : CAP) หน่วยงานภายใต้สมาคมอุตสาหกรรมวิดีโอแห่งเอเชีย (AVIA)

ผลสำรวจชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของสตรีมมิ่งคอนเทนต์ละเมิดลิขสิทธิ์ ทำให้โทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกที่ถูกกฎหมาย โดนผู้บริโภคที่ซื้อกล่อง ISD หรืออุปกรณ์ส่งสัญญาณผ่านระบบ ไร้สาย (WiFi) ไปที่เครื่องโทรทัศน์ (Dongle) บอกเลิกสมาชิกถึง 45%

นีล เกน ผู้จัดการทั่วไปของพันธมิตรเพื่อการต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ (CAP) กล่าวว่า การใช้บริการสตรีมมิ่งผิดกฎหมาย ทำให้ผู้ใช้ได้รับความเสี่ยง ผลกระทบการละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ได้มีต่อผู้สร้างสรรค์ผลงานเท่านั้น แต่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคทั่วไปด้วย เพราะคอนเทนต์ละเมิดลิขสิทธิ์มักมากับมัลแวร์ (Malware) ผู้บริโภคทั่วไปมักต้องกด "คลิกเพื่อรับชม" ซึ่งทำให้การแพร่กระจายมัลแวร์เกิดขึ้นเพียงชั่วพริบตา

ดังนั้น ผู้บริโภคที่ชอบของ "ฟรี" หรือกลุ่มที่จ่ายเงินค่าสมัครสมาชิถูกๆ เพื่อดูคอนเทนต์ละเมิดลิขสิทธิ์จึงมีความเสี่ยงติดมัลแวร์ ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคที่ตอบแบบสอบถาม (47%) ที่มีกล่อง ISD กล่าวว่า ซื้อกล่องมาจากร้านค้าอี-คอมเมิร์ซชื่อดังในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร้านค้าในห้างไอที หรือตามงานแสดงสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เกือบ 1 ใน 3 ของผู้บริโภคที่มีกล่อง ISD (31%) อ้างว่าซื้ออุปกรณ์มาจากแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากของโลก

แหล่งข่าวจากบริษัทโทรทัศน์บอกรับสมาชิกเปิดเผยว่า การละเมิดลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้นมากในขณะนี้ นำมาซึ่งอันตรายหลายประการ ประการแรก คือ อันตรายต่อผู้บริโภคจากการติดมัลแวร์และสปายแวร์ที่ฝังอยู่ในเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นละเมิดลิขสิทธิ์ ประการที่ 2 การสนับสนุนอาชญากรรมเหล่านี้ทำให้เกิดความ เสียหายต่อธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ประการที่ 3 การทำลายโมเดลประเทศไทย 4.0 ซึ่งพยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและเป็นหนึ่งในผู้นำโลกในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ผู้บริโภคควรให้ความระมัดระวังกับเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากความ เสียหายที่เกิดจากมัลแวร์ สปายแวร์ และ RATs กระทบต่อผู้บริโภคโดยตรงและยังส่งผลกระทบต่อประเทศและเศรษฐกิจ

ด้านกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานที่ดูแลกฎหมายลิขสิทธิ์ได้ให้ความเห็นว่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา จึงได้เสนอแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์โดยเพิ่มบทบัญญัติกำหนดฐานความผิดสำหรับกรณีการให้บริการ การผลิต จำหน่าย หรือนำเข้าอุปกรณ์ลักลอบรับชมทีวีโดยละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักร่างกฎหมายเมื่อ วันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา