posttoday

กิ๊กอีโคโนมีไทยเริ่มคึก

04 ธันวาคม 2561

เทรนด์อาชีพปีนี้ กิ๊กอีโคโนมี มาแรง ธุรกิจโลจิสติกส์ต้องการแรงงานเพิ่ม ส่วนภาคการผลิตรับอานิสงส์อีอีซี

เทรนด์อาชีพปีนี้ กิ๊กอีโคโนมี มาแรง ธุรกิจโลจิสติกส์ต้องการแรงงานเพิ่ม ส่วนภาคการผลิตรับอานิสงส์อีอีซี

น.ส.สุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แมนพาวเวอร์กรุ๊ป (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ภาพรวมการจ้างงาน ประเภทการจ้างงานระยะสั้น การจ้างงานชั่วคราว สัญญาจ้าง หรือกิ๊ก อีโคโนมี มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะในธุรกิจที่มีการขยายการลงทุนจากต่างชาติ เพื่อที่องค์กรสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น เช่นในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก โลจิสติกส์ การซ่อมบำรุง ช่างเทคนิค วิศวกรรม โดยจะเห็นสัญญาณเติบโตต่อเนื่องเพิ่มขึ้นเป็น 40-50% ใน 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันอยู่ที่ 30% จากประชากรทั้งประเทศ หรือราว 21 ล้านคน

ทั้งนี้ ภาพรวมในปี 2561 และแนวโน้มในอนาคต ภาคแรงงานด้านธุรกิจ โลจิสติกส์และซัพพลายเชน ถือว่าได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการอย่างมาก จากการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ การซื้อสินค้าออนไลน์ในประเทศไทย โดยเฉพาะพนักงานคลังสินค้า พนักงานตรวจนับสินค้า ขนถ่ายสินค้า เป็นต้น ทำให้เห็นสัญญาณการแย่งบุคลากรในตลาด ด้วยการปรับค่าแรงเพิ่ม 50-100% หรือเป็นเท่าตัว เพื่อดึงดูดแรงงาน

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและการผลิตได้รับอานิสงส์จากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ โดยจะมีความต้องการแรงงานในธุรกิจยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการแพทย์ การบินอวกาศ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ทำให้เทรนด์ของอาชีพที่มีความต้องการของตลาดสูงขึ้น ได้แก่ วิศวกรด้านไฟฟ้า หุ่นยนต์ พลังงานทดแทน เครื่องกล

น.ส.สุธิดา กล่าวว่า เช่นเดียวกับความต้องการแรงงานในธุรกิจไอทีและเทคโนโลยี ที่องค์กรตื่นตัวจากการเปลี่ยนผ่านของดิจิทัล เช่น สถาบันการเงิน ประกันภัย โลจิสติกส์ที่ปรับเปลี่ยนแพลตฟอร์มมากขึ้น ทำให้เกิดความต้องการแรงงานในด้านการพัฒนาโปรแกรม ระบบเครือข่าย บิ๊กดาต้า พนักงานไอที เพิ่มขึ้นกว่า 10%

นอกจากนี้ ยังมีอาชีพพนักงานฝ่ายผลิต ช่างเทคนิค ช่างซ่อมบำรุง รวมถึงพนักงานขาย จากการที่ธุรกิจขายปลีกต้องการกระจายตัว ขยายช่องทางไปต่างจังหวัด เช่นเดียวกับความต้องการในธุรกิจให้บริการทางโทรศัพท์ ที่ต้องการพนักงานคอลเซ็นเตอร์ให้บริการลูกค้า โดยตลาดต้องการบุคลากรที่มีทักษะภาษาที่ 3

สำหรับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศ อาจประสบปัญหาระยะสั้นในการสรรหาผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่ต้องใช้เวลาพัฒนาอบรม 6 เดือน-1 ปี ทำให้ภาคธุรกิจ เช่น กลุ่มไอที เทคโนโลยี ในตำแหน่งผู้บริหารต้องนำเข้าบุคลากรจากต่างประเทศ เพื่อคุมเรื่องการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล ส่วนการปรับเงินเดือนภาพรวมปีนี้อยู่ที่ 5-10% ขึ้นอยู่กับผลประกอบการบริษัทและผลงานพนักงาน