posttoday

ออกแบบการเรียนรู้ ที่ต่อเนื่อง

01 ธันวาคม 2561

โดย...ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ Chief Learning Officer บริษัทแอคคอม แอนด์อิมเมจ อินเตอร์เนชั่นแนล

โดย...ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ  Chief Learning Officer บริษัทแอคคอม แอนด์อิมเมจ อินเตอร์เนชั่นแนล

ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ภารกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ก็คือการพัฒนาทักษะต่างๆ ให้กับผู้บริหารและบุคลากรให้ทันกาล สำหรับผู้ที่ทำหน้าที่ออกแบบถ่ายทอดความรู้หรือพัฒนาทักษะใหม่ๆ สิ่งที่คาดหวังก็คือ ต้องการให้ผู้เข้ารับการอบรมหรือพัฒนาด้วยรูปแบบหรือช่องทางใดๆ ก็ตาม ได้รับประสบการณ์ที่ดี และสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปฏิบัติได้จริงในการทำงาน และสนใจที่จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Continuous Learning)

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติงานในองค์กรในปัจจุบัน ผู้บริหารและบุคลากรมีหน้าที่การงานล้นมือ การเข้าอบรมพัฒนาใดๆ หากไม่มีการวางแผนอย่างดี อาจทำให้ไม่สมหวังทั้งสองฝ่าย ผู้เข้าอบรมไม่มีสมาธิระหว่างการเรียนรู้ สมองของคนเราทำงานได้ไม่เต็มที่ในการจดจำ หากผู้เรียนทำหลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กัน หรือที่เราเรียกว่า “Multitask”

ในการออกแบบการเรียนรู้ (Learning Design) เพื่อประสิทธิผลสูงสุด จึงจำเป็นต้องวางแผนให้ครอบคลุมตั้งแต่การจัดเตรียมทรัพยากรที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมาย จนถึงการสนับสนุนในการนำไปปฏิบัติจริง การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งพิจารณาแรงจูงใจของผู้เรียนทั้งระหว่างเรียนและการนำไปปฏิบัติด้วย การออกแบบเพื่อการอบรมหนึ่งหรือสองวันและจบกันไปอาจไม่เกิดประสิทธิผลเสมอไป

ด้านทรัพยากร อย่างเช่น เตรียมเนื้อหาที่น่าสนใจสั้นๆ ส่งให้ผู้เรียนเตรียมการก่อนล่วงหน้า คู่มือที่ใช้ในการอ้างอิงได้ง่าย วิดีโอสั้นๆ หรือเกมเพื่อทบทวน ข้อมูลสรุปทาง Online ที่เปิดดูเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งต้องออกแบบโดยเน้นคุณภาพ และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้นั้นๆ สำหรับผู้เรียนที่มีเวลาน้อยๆ องค์ประกอบ
เหล่านี้จะช่วยให้ลดเวลาในห้องอบรมได้อีกด้วย

ด้านการสนับสนุนในการนำไปปฏิบัติจริง การจัดให้มีโค้ชของกลุ่มทักษะนั้นๆ เพื่อสนับสนุนการนำไปใช้และการลดอุปสรรคต่างๆ หรือกลับมาฝึกปฏิบัติในกลุ่มเล็กๆ และสะท้อนถึงความสามารถของตนในการนำไปใช้ โค้ชมีเทคนิคสร้างแรงจูงใจให้ผู้เข้าร่วมมีอิสระในการเรียนรู้ และเพิ่มความมั่นใจในตนเอง เน้นการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องเครียด และทำให้เป็นเรื่องของการค้นหาและสนุกได้เสมอ

ในด้านผู้ถ่ายทอดหรือผู้สอนที่ดีจึงมักเริ่มที่การศึกษากลุ่มผู้เข้าเรียนล่วงหน้า เพื่อเข้าใจทั้งความคาดหวังของพวกเขา และการกำจัดอุปสรรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเรียนรู้และระหว่างเรียน ควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียน “ลงมือปฏิบัติ” มากกว่า “นั่งฟัง” อีกทั้งพร้อมที่จะปรับเทคนิคการเรียนรู้ได้ทันทีเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมมากที่สุด

อุปสรรคอาจเกิดจากผู้เข้าร่วมอบรมเองก็เป็นได้ เช่น หนึ่ง ผู้เข้าอบรมที่แสดงความคิดเห็นมากเกินไปโดยไม่รับฟังความคิดเห็นผู้เรียนคนอื่นๆ สอง ไม่แสดงความคิดเห็นเลย ดูเหมือนไม่มีส่วนร่วมใดๆ สาม ชวนคุยออกนอกเรื่อง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ ผู้สอนที่มีวุฒิภาวะอารมณ์จะบริหารจัดการสถานการณ์เหล่านี้ได้อย่างแยบยล
ราบรื่น โดยไม่จำเป็นต้องทำให้ผู้เรียนรู้สึกเสียหน้า ผู้สอนที่ดีจะทราบว่าเป้าหมายของการบริหารจัดการสถานการณ์ยุ่งยากคือ “การเรียนรู้” มากกว่า “การเอาชนะ”  

อัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ นักเขียน นักธุรกิจชาวอเมริกันและนักพยากรณ์อนาคต ผู้เขียนหนังสือที่โด่งดังเรื่อง “Future Shock” และ “The Third Wave” ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเปิดรับการเรียนรู้อยู่เสมอว่า “The illiterate of the 21st century will not be those who cannot read and write, but those who cannot learn, unlearn and relearn.” หมายถึงในศตวรรษที่ 21 คนที่เราเรียกว่า คนไม่รู้หนังสือ จะไม่ใช่คนที่อ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้อีกต่อไป แต่จะหมายถึงคนที่ไม่สามารถเรียนรู้ คนที่ติดยึดกับวิธีเดิมๆ และคนที่ไม่ยอมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

ที่สำคัญไม่ใช่เพียงผู้เรียนเท่านั้นที่ควรเปิดรับความรู้และทักษะใหม่ๆ อยู่เสมอ ผู้ออกแบบการเรียนรู้ และผู้สอนก็จำเป็นต้อง Learn, Unlearn and Relearn เช่นเดียวกัน