posttoday

'จีอี พาวเวอร์'ทุ่มลงทุน รุกบริการข้ามแบรนด์

21 พฤศจิกายน 2561

จีอี พาวเวอร์ พัฒนาเทคโน โลยีบริการโซลูชั่น ให้บริการ ข้ามแบรนด์ (Cross-Fleet) เพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้า

โดย...ภูวดล โกมลรัตนเสถียร      

ภาคอุตสาหกรรมพลังงานมีการปรับเปลี่ยนพัฒนาเทคโนโลยีตลอดเวลาให้ทันกับความต้องการที่เปลี่ยนไป ทำให้ ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้ามีความจำเป็นต้องลงทุนจัดซื้อจัดหาบริการและกระบวนการทำงานต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น ประสิทธิภาพและลดต้นทุน

โกวิทย์ คันธาภัสระ ประธานและหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร จีอี ประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เปิดเผยว่า จีอี พาวเวอร์ เซอร์วิส อยู่ระหว่างรอความชัดเจนของกระทรวงพลังงานในการทบทวนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (พีดีพี) ซึ่งจะเห็นแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าใน 5-10 ปีข้างหน้า

ขณะเดียวกันในปัจจุบันกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่มีปริมาณสูงกว่าความต้องการใช้ และยังมีอีกหลายโครงการของภาคเอกชนที่อยู่ในแผนงาน อีกทั้งเศรษฐกิจไม่ได้เติบโตอย่างที่คาดการณ์ ทำให้บริษัทต้องติดตามและปรับแนวทางการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานหมุนเวียน

"ธุรกิจในไทยที่มีแนวโน้มเติบโต ได้แก่ การปรับเปลี่ยนฟลีทเครื่องบินของหลายสายการบิน ธุรกิจเฮลท์แคร์ ธุรกิจน้ำมันและก๊าซที่จะปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบ" โกวิทย์ กล่าว

ทั้งนี้ บริษัทจึงปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจ โดยใช้งบลงทุนกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.29 หมื่นล้านบาท) สำหรับพัฒนาเทคโนโลยีและบริการโซลูชั่นใหม่ ในธุรกิจการให้บริการข้ามแบรนด์ (Cross-Fleet) ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าและช่วยหนุนประสิทธิภาพเครื่องกังหันก๊าซให้กับกลุ่มลูกค้าโรงไฟฟ้าของเอกชนขนาดใหญ่และขนาดเล็กทั้งในประเทศไทยและภูมิภาค ที่มีความต้องการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุนเชื้อเพลิง

ด้านแผนธุรกิจ บริษัทจะเริ่มรุกแผนตลาดในประเทศไทย เนื่องจากเป็นตลาดที่สำคัญของภูมิภาค โดยมีเครื่องกังหันก๊าซรุ่น SGT-800 ติดตั้งและใช้ในขบวนการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำแก่ลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากที่สุดที่ 71 เครื่อง หรือคิดเป็น 80% ของภูมิภาคอาเซียน จากทั้งหมด 320 เครื่องทั่วโลก ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มเจรจาธุรกิจการให้บริการกับลูกค้าในไทยเกือบทุกรายแล้ว ก่อนที่จะขยายสู่ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี และออสเตรเลีย

พร้อมใช้งบลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนากว่า 60 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.97 พันล้านบาท) และลงทุนด้านบุคลากร เพื่อรองรับการขยายธุรกิจ ซึ่งบริษัทถือเป็นบริษัทแรกที่ให้บริการเทคโนโลยีและเพิ่มประสิทธิภาพข้ามแบรนด์และในเครื่องรุ่นอื่นๆ ได้ เบื้องต้นมีคำสั่งซื้อและรอการติดตั้งปรับปรุงเครื่องกังหันก๊าซหลายรุ่นมูลค่ากว่า 200 ล้านดอลลาร์ (ราว 6.58 พันล้านบาท) ซึ่งเชื่อว่าจะเห็นแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจนี้ทั่วโลกและในไทย

ขณะที่เป้าหมายการดำเนินธุรกิจ บริษัทจะนำเทคโนโลยีดังกล่าวเข้าช่วยให้ลูกค้าโรงไฟฟ้ามีความพร้อม ในการจัดการ เพิ่มประสิทธิภาพกำลังการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า ล่าสุดการให้บริการดังกล่าวในโรงไฟฟ้า Tuxpan Power Plant ประเทศเม็กซิโก ขนาด 700 เมกะวัตต์ ช่วยให้เกิดการประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้กว่า 100 ล้านบาท/ปี และเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ 9.2%