posttoday

กับดักดิจิทัล

17 พฤศจิกายน 2561

โดย...ดิลก ถือกล้า[email protected]

โดย...ดิลก ถือกล้า[email protected]

ในยามที่โลกกำลังหมุนไปในเส้นทางของดิจิทัล องค์กรก็พยายามปรับตัว เรียนรู้ เพื่อนำดิจิทัลมาใช้ในองค์กร เป็นเรื่องจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลานี้ ที่บางคนเรียกการเปลี่ยนแปลงจากการใช้ดิจิทัลว่าเป็นสึนามิการเปลี่ยนแปลง คือ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงที่จะชี้ว่าองค์กรนี้จะอยู่หรือไปได้เลยทีเดียว

แต่สิ่งที่ผมมองเห็นในอีกมุมหนึ่งของปรากฏการณ์ที่หลายองค์กรมุ่งถาโถมเข้าสู่การนำดิจิทัลเข้ามาใช้ภายในองค์กร ก็คือการมองข้ามสิ่งที่เป็น "กับดัก" ของการเข้าสู่ดิจิทัล ทำให้ไม่ทันระวังและอาจจะติดกับดักนั้นแล้วไปต่อไม่ได้ จากการมองภาพขององค์กรหลายๆ องค์กรในบ้านเรา ผมมองเห็นสิ่งที่เป็นกับดักดิจิทัล ที่มีบางองค์กรเข้าไปติดหล่มมักจะเป็นกับดักเหล่านี้

กับดักที่ 1 การนำดิจิทัลมาใช้โดยขาดการปรับเปลี่ยนกระบวนการหรือวิธีการทำงานก่อน

ในทุกองค์กรจะมีขั้นตอนการทำงาน กระบวนการทำงานที่เป็นลักษณะเฉพาะของตนเอง เมื่อเวลาผ่านไปคนที่เกี่ยวข้องก็จะเกิดความเคยชิน และเชื่อว่านั่นคือกระบวนการทำงานที่ถูกต้องสมบูรณ์แล้ว และเมื่อนำดิจิทัลมาใช้ก็จะนำมาปรับใช้บนวิธีการทำงานเดิมๆ ที่ไม่ได้มีการทบทวนตรวจสอบว่าเป็นวิธีการทำงานที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ ทำให้มีโอกาสสูงมากที่จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือการเกิดประสิทธิภาพที่สูงขึ้นได้จากการลงทุนด้านดิจิทัลได้

สิ่งที่จะทำให้องค์กรไม่ตกอยู่ในกับดักนี้ คือ ต้องทบทวนวิธีการทำงานหรือกระบวนการทำงานว่ามีประสิทธิภาพเพียงพอแล้วหรือไม่อย่างไร หรือควรจะต้องปรับอะไรหรือไม่ เช่น ทำให้กระชับขึ้นได้หรือไม่

กับดักที่ 2 ไม่ได้ปรับ Mindset ก่อนนำ Digital Set เข้ามาใช้

ดิจิทัลก็คือเครื่องมือแบบหนึ่ง ที่จะมาใช้ตอบโจทย์การทำงาน แต่จะมีความต่างจากเครื่องมือที่ช่วยในการทำงานในยุคก่อนหน้าก็คือ มันเป็นเครื่องมือที่แนบอยู่กับวิถีชีวิต เป็นเครื่องมือที่จะต้องเริ่มต้นจากการเปิดใจ และสร้างความคุ้นชิน ดังนั้นสิ่งที่องค์กรมักจะ มองข้ามก็คือ การไม่ได้ปรับความคิด ปรับใจของคนในองค์กรที่ไม่ได้มี ความพร้อมรับเรื่องดิจิทัลทุกคน ให้เขาเปิดใจ ไม่กลัว ไม่ต่อต้าน และพร้อม อ้าแขนรับ เพราะถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ดิจิทัลที่นำเข้ามาจะเป็นเหมือนลู่วิ่ง ที่หลายบ้านซื้อเอาไว้เพราะตั้งใจจะวิ่งแล้วกลายเป็นที่ตากผ้าในเวลาไม่นาน

สิ่งที่จะทำให้องค์กรไม่ตกอยู่ในกับดักนี้ คือ ต้องประเมินความพร้อมของคนในองค์กรว่า Mindset หรือมุมมองเขาในเรื่องดิจิทัลเป็นอย่างไร ในแต่ละกลุ่มงาน แต่ละ Generation แล้วมีการสร้างกิจกรรมที่ปรับเปลี่ยน Mindset ในแต่ละกลุ่มด้วยแนวทางที่ต่างกันออกไปตามระดับของความพร้อม

กับดักที่ 3 ไม่ได้สร้างวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการใช้หรือการเกิดดิจิทัล

การเกิดดิจิทัลในองค์กรก็ไม่ต่างจากการที่เรานำต้นไม้สักต้นไปปลูกในสวน การเตรียมดิน ปุ๋ย น้ำ แสงแดด ก็จะต้องเหมาะสมและพอเพียง องค์กรเองก็จะต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่จะทำให้ดิจิทัลนี้ สามารถงอกเงย เติบโตและอยู่รอดได้ สภาพแวดล้อมที่ว่านี้เป็นต้นว่าการมีเวทีให้คนได้นำเสนอ ได้แสดงออก การสร้างบรรยากาศที่ทำให้การทดลองอะไรใหม่ๆ แล้วล้มเหลวเป็นเรื่องธรรมดา การลดขั้นตอนการทำงานที่เยิ่นเย้อ การพัฒนาผลตอบแทน การจูงใจที่กระตุ้นให้คนอยากใช้ อยากคิดอะไรที่เป็นดิจิทัล

สิ่งที่จะทำให้องค์กรไม่ตกอยู่ใน กับดักนี้ คือ การสร้างสภาพแวดล้อม ที่พร้อมให้ดิจิทัลได้เติบโต และแทรกซึมได้ง่าย มีการปรับวัฒนธรรมการ ทำงานที่กระตุ้นให้คนกล้าคิด กล้า นำเสนอสิ่งใหม่ สร้างวัฒนธรรมที่ให้คนเปิดใจกว้างกับความล้มเหลวแต่เรียนรู้ จากความล้มเหลวนั้นโดยไม่มีการ ลงโทษ

กับดักที่ 4 มองว่า ดิจิทัล คือ คำตอบของทุกอย่างในการทำงาน

ผู้นำบางองค์กรเชื่อว่าดิจิทัลจะเป็นคำตอบสุดท้ายของการทำงานทุกงาน เชื่อว่างานทุกงานจะสามารถนำดิจิทัลมาใช้ หรือนำมาทดแทนได้ โดยลืมไปว่างานบางงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยด้านความละเอียดอ่อน ของมนุษย์ในการเข้าไปดำเนินการหรือจัดการนั้น ไม่มีดิจิทัลใดที่จะแทนได้ ในเวลานี้ แม้โลกจะได้มีหุ่นอัจฉริยะแบบโซเฟียที่สามารถโต้ตอบกับคนได้อย่างน่าอัศจรรย์ แต่ก็ยังไม่ใช่คำตอบ เพราะงานที่จะใช้ดิจิทัลมาช่วยได้ดี คือ กลุ่มงานที่มีลักษณะทำซ้ำๆ กลุ่มงานที่ต้องการการวิเคราะห์เชิงข้อมูลเชิงลึก กลุ่มงานที่เป็นการบริการแบบไม่ต้องใช้การตัดสินใจ เป็นต้น แต่กับกลุ่มงานที่ต้องใช้การบริหารคน กลุ่มงานที่ต้องตัดสินใจโดยพิจารณาปัจจัยด้านความรู้สึกของคนมาประกอบ ดิจิทัลอาจจะช่วยได้เป็นเพียงการให้ข้อมูลเบื้องต้น แต่ไม่ใช่จะทดแทนได้ทั้งหมด

สิ่งที่จะทำให้องค์กรไม่ตกอยู่ใน กับดักนี้ คือ แยกงานให้ได้ว่า งาน อะไรที่จะใช้ดิจิทัลแทนได้อย่างสมบูรณ์ งานอะไรที่ดิจิทัลจะเป็นผู้ช่วย และ งานอะไรที่ดิจิทัลไม่สามารถทดแทน ได้เลย

ขอฝากเอาไว้ เพื่อให้ทุกท่าน สามารถรอดจากกับดักดิจิทัลข้างต้นนะครับ