posttoday

ห้ารูปแบบ การประสานงาน

03 พฤศจิกายน 2561

โดย...อัจฉรา จุ้ยเจริญ

โดย...อัจฉรา จุ้ยเจริญ

ในปัจจุบันการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม หรือระหว่างกลุ่มงานเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะองค์กรที่ไม่ต้องการบรรยากาศการทำงานแบบไซโล

มักจะเปิดโอกาสให้บุคลากรต่างหน่วยงานได้มาร่วมกันทำงานในโครงการต่างๆ หรือตั้งวัตถุประสงค์ให้สมาชิกร่วมกันคิด สร้างสรรค์งานหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกกลุ่มที่ประสานงานและร่วมมือกันได้ดี ทักษะการประสานงานและความร่วมมือ (Collaboration) จึงมีความสำคัญ และหากสมาชิกทุกคนมีทักษะด้านนี้สูง กลุ่มงานนี้จะไม่เป็นเพียงกลุ่มงานเท่านั้น แต่นับได้ว่าเป็นทีมงานที่มีคุณภาพก็ว่าได้

ทีมงานที่ประสานและร่วมมือกันได้ดี มักจะมีแรงจูงใจในการมาร่วมงานกัน และสมาชิกทุกคนยึดมั่นในการสร้างผลงานที่มีมาตรฐานสูง แต่ละคนมีความ
รับผิดชอบและให้ความสำคัญกับผลงานรวมของทีม

นอกจากนั้น ยังให้เวลากับการรู้จักกัน เพื่อพัฒนาสัมพันธภาพที่นำไปสู่ความไว้วางใจต่อกัน (Trust) ไปด้วย นั่นคือให้ความสำคัญทั้งสองด้าน คือ ผลงานของทีม และการสร้างความไว้วางใจต่อกัน

เมื่อบุคคลหลากหลายมาร่วมมือกันทำงาน รูปแบบการประสานงานของบุคคลอาจแตกต่างกัน หากจะแยกแยะให้เห็นถึงความแตกต่าง แบ่งได้ห้ารูปแบบ ดังนี้

แบบที่หนึ่ง “มาเพื่อชนะ” คือ รูปแบบการประสานงานที่เน้นไปยังผลลัพธ์ที่ตนเองสนใจ เมื่อเกิดความคิดเห็นที่แตกต่าง มักจะต้องการเอาชนะ ไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และไม่ได้ใส่ใจในการสร้างสัมพันธภาพเท่าใดนัก

แบบที่สอง “มาตามใจเพื่อน” คือ รูปแบบที่เน้นรักษาความสัมพันธ์ด้านเดียว ไม่อยากขัดแย้งกับใคร ผลลัพธ์ของทีมจะออกมาเป็นอย่างไรก็ไม่เป็นไร

แบบที่สาม “มาแต่ตัว หัวคิดกับหัวใจไม่ได้เอามา” คือ เป็นผู้ร่วมทีมที่ไม่สนและไม่ใส่ใจกับทั้งผลลัพธ์ของทีมและการสร้างความไว้วางใจ มาร่วมกิจกรรมให้จบๆ ไป ถือคติว่า “ไม่พูด ไม่เด่น ไม่เป็นภัย”

จะเห็นได้ว่า รูปแบบการประสานงานสามแบบแรก อาจจะไม่ได้นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจากทีม เพราะสมาชิกในทีมยังไม่ได้ใช้ศักยภาพเพื่อส่วนรวมอย่างเต็มที่ อีกทั้งบรรยากาศที่ยังคลางแคลงใจกัน ทำให้การสื่อสารไม่เปิดเผยอย่างเต็มที่

แบบที่สี่ “มาพบกันคนละครึ่งทาง” คือ เป็นแบบที่ใส่ใจทั้งผลลัพธ์ของทีม และความสัมพันธ์ เมื่อคิดต่างกัน ก็จะพยายามที่จะประนีประนอมหรือต่อรองกัน ซึ่งดูเผินๆ น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ในบางกรณีเมื่อต่างคนต่างถอยอาจไม่ได้นำไปสู่ทางออกที่ดีที่สุดของผลรวม

แบบที่ห้า “มาเพื่อร่วมมือและร่วมใจ” คือ ผู้ร่วมทีมแบบนี้ จะไม่หยุดแค่ต่างคนต่างถอย หากเล็งเห็นว่า ผลลัพธ์โดยรวมของทีมยังสามารถออกมาดีกว่านี้ได้อีก ผู้ร่วมทีมแบบนี้จะละทิ้งประโยชน์ส่วนตน และสนใจในทุกความเห็นที่จะยกระดับคุณภาพการตัดสินใจร่วมกันของทีม

นอกเหนือจากการสื่อสารกันระหว่างงานของทีมแล้ว ก็จะพัฒนาสัมพันธภาพกับผู้ร่วมทีมคนอื่นๆ ทำความรู้จักสไตล์การทำงานของกันและกันมากขึ้น

ผู้ที่มีทักษะการประสานความร่วมมือที่ดี มักจะเปิดการสนทนาด้วยการทำความเข้าใจเป้าหมาย ความคาดหวังของทีมให้ตรงกัน สนใจความต้องการและศักยภาพของทุกคน ค้นหาสิ่งที่เห็นตรงกันก่อน

สำหรับสิ่งที่เห็นต่างกัน ชักชวนให้ทีมค้นหาทางเลือกต่างๆ ที่ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง แต่เพื่อให้ทีมได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

เมื่อเกิดบรรยากาศขัดแย้งที่ตึงเครียด จะรู้สึกได้ก่อนคนอื่น สามารถบริหารอารมณ์ตนเองได้ มีเทคนิคต่างๆ ในการคลี่คลายความตึงเครียดของทีม หรือมีอารมณ์ขัน มีความรับผิดชอบ รับปากแล้วทำตามที่ตกลงกัน

คนเก่งหลายๆ คนมาร่วมงานกันเป็นทีม ผลลัพธ์ของทีมที่ออกมาควรจะดีขึ้นอย่างเท่าทวีคูณ

ดิฉันมองว่าในยุคนี้ บางครั้งเราก็ต้องทำงานคนเดียว บางครั้งเราก็ต้องร่วมงานเป็นทีมกับผู้อื่น

คนเก่งยุคนี้จึงเก่งทั้งตอนฉายเดี่ยว และเมื่อร่วมงานกับทีมใดๆ แล้ว ทีมนั้นมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้น ผลลัพธ์ของทีมดีขึ้นอีกด้วย นี่สิ…น่าชื่นชมว่า เก่งจริง