posttoday

"เซเว่นฯ" ชี้ 5 เมกะเทรนด์โลก เขย่าธุรกิจต้องปรับตัว

17 กันยายน 2561

5แนวโน้มใหญ่ที่ ธุรกิจและองค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลกต้องเผชิญในปี2573

5แนวโน้มใหญ่ที่ ธุรกิจและองค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลกต้องเผชิญในปี2573

*****************************

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

ในปี 2573 ธุรกิจและองค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลกต้องเผชิญกับความท้าทาย 5แนวโน้มใหญ่ หรือเมกะเทรนด์ที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจ หลายองค์กรต้องปรับยุทธศาสตร์ ทั้งการสร้างประสบการณ์บริการ ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างโอกาสทางการค้าใหม่ๆ

ปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ เปิดเผยว่า 5 เมกะเทรนด์ที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจ ประกอบด้วย 1.ทั่วโลกก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุจะมีประชากร 1,400 ล้านคน เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ สินค้าต้องพัฒนาเพื่อรองรับกับประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป 2.โลกไร้พรมแดนแต่จะมีอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ที่โตแบบก้าวกระโดด 3.โลกเข้าสู่ยุค 4.0 เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตเพิ่มขึ้น ซึ่งองค์กรใดไม่ปรับตัวจะไม่สามารถยืนหยัดในธุรกิจได้

ในส่วนเมกะเทรนด์ที่ 4 การขาดแคลนทรัพยากรคน ต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนไอโอที เอไอ โรโบติกส์เข้ามาใช้ทดแทนแรงงานที่ลดลง และ 5.โลกเข้าสู่แกนความยั่งยืนและความรับผิดชอบทางสังคม ทำให้สินค้าต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับการดำเนินธุรกิจในไทย มีความท้าทายนอกเหนือจากเมกะเทรนด์โลก คือ การก้าวสู่สังคมเมือง ประชากรในเขตเมืองเพิ่มขึ้นในปี 2558 จาก 31 ล้านคน เป็น 35.3 ล้านคน ในปี 2565 แนวโน้มครอบครัวมีขนาดเล็กลง เพราะคนรุ่นใหม่มีลูกน้อยลงและแต่งงานช้า ส่งให้ขนาดครอบครัวจาก 3.2 คน ในปี 2558 เหลือเป็น 2.5 คน ในปี 2565 รวมถึงการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (มากกว่า 60 ปี) เพิ่มจาก 9 ล้านคน ปี 2558 เป็น 13.6 ล้านคน ปี 2565

นอกจากนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคยุค 4.0 เปลี่ยนแปลงอย่างมาก ชอบการสื่อสาร การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทุกที่ทุกเวลา ความอดทนต่ำ ไม่ชอบรอ และหาข้อมูลการซื้อสินค้า พบว่า 50%ตัดสินใจซื้อสินค้าจากการรีวิว ยอมจ่ายเงินเพื่อความสบายและเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ดังนั้นการทำธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับช่องทางสมาร์ทโฟน โดยเฉพาะช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซ และเอ็ม-คอมเมิร์ซ ควบคู่กับการใช้บิ๊กดาต้า เพื่อวิเคราะห์ถึงความต้องการของผู้บริโภค

“ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับไลฟ์สไตล์กับการสร้างประสบการณ์ จึงเปลี่ยนจากการให้ความสำคัญจากความต้องการสินค้ามาสู่เรื่องของการบริการมากยิ่งขึ้น ร้านค้าต้องสร้างประสบการณ์ที่มากกว่าแค่ขายสินค้า นำเทคโนโลยีเสริมการบริหาร เพราะการแข่งขันจากนี้จะมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งพบว่าลูกค้าจะกลับมาซื้อสินค้า 41% เมื่อร้านค้ามีบริการที่ดี และสาเหตุที่ลูกค้าหันไปซื้อสินค้าแบรนด์คู่แข่ง 68% มาจากบริการไม่ดี”

ปิยะวัฒน์ กล่าวว่า ผู้บริโภคยุคนี้แสวงหาสิ่งใหม่ให้กับตนเองตลอดเวลา 65% ซื้อสินค้าแบรนด์ที่มีชื่อเสียงเป็นคนดี 63% ต้องรู้เรื่องสำคัญก่อนใครเสมอ 50% หาคำตอบผ่านออนไลน์ 41% ส่วนเทรนด์ที่กำลังมาแรง การซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์และรับสินค้าที่ร้าน โดยในปี 2560 ราว 37% เพิ่มเป็น 59% ในปีนี้และ 60% ของคนเอเชียซื้อสินค้าในรูปแบบดังกล่าว โดยเฉพาะจีนมีสัดส่วน 74%

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตและพร้อมที่จะดิสรัปชั่นธุรกิจที่ไม่ปรับตัว แบรนด์ที่จะสามารถยืดหยัดอยู่ได้ ไม่เพียงแค่ลงทุนเทคโนโลยี แต่ต้องเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคและโลกการค้าที่หมุนเร็วยิ่งขึ้น