posttoday

เกษตรอัจฉริยะ โตได้ด้วยเทคโนโลยี

13 กันยายน 2561

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้จัดงาน เสวนา “เกษตรอัจฉริยะ : ทางรอด เอสเอ็มอี ธุรกิจการเกษตรไทย"

(นวัตกรรมทำเงิน)

วราภรณ์ เทียนเงิน

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้จัดงาน เสวนา “เกษตรอัจฉริยะ : ทางรอด เอสเอ็มอี ธุรกิจการเกษตรไทย" เพื่อร่วมเปลี่ยนแปลงและสร้างเกษตรกรไทยสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตร

“อภิรดี ขาวเธียร” ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและแผนส่งเสริมเอสเอ็มอี สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ร่วมสร้างผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ พร้อมส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อสร้างเกษตรกร 4.0 และก้าวสู่สมาร์ทฟาร์ม

“ผศ.ดร.วรพจน์ อังกสิทธิ์” หัวหน้าโครงการวิจัย ผลการศึกษารูปแบบส่งเสริมเอสเอ็มอี กลุ่มธุรกิจการเกษตร : กรณีศึกษาการพัฒนาธุรกิจการเกษตรเพื่อรองรับเกษตรกรรม 4.0 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้ร่วมกับ สสว.ทำการศึกษาธุรกิจการเกษตรของประเทศไทย จากปัจจุบันมีภาคเกษตรกรในประเทศไทยกว่า 3 ล้านราย และเป็นผู้ประกอบการเกษตรที่จดทะเบียนประมาณ 4 หมื่นราย ดังนั้น การทำวิจัยจะช่วยส่งผลต่อแนวทางการสร้างผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ให้มีจำนวนมากขึ้น

“ชนะ ไชยชนะ” ประธานวิสาหกิจชุมชนพัฒนาพืชผักสมุนไพรและผลไม้ จ.ลำพูน กล่าวว่า ได้เริ่มต้นทำเกษตรอินทรีย์และทำสวนลำไยแบบอินทรีย์ เพราะต้องการสร้างผลผลิตทางการเกษตรที่มีความแตกต่าง พร้อมได้นำเทคโนโลยี Freeze Dry มาแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรของในกลุ่ม ทั้ง ลำไย มะม่วง จึงสร้างผลผลิตการเกษตรที่แตกต่าง และมีความต้องการสูง รวมถึงส่งออกไปต่างประเทศ

“ปนัดดา เคปเปิล” กรรมการ บริษัท ดี.เอ.ที.ที. กล่าวว่า แบรนด์มะเขือเทศ “Take me Home” ได้มุ่งการนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการฟาร์ม ทั้งสร้างโรงเรือนปลูกมะเขือเทศเพื่อให้เหมาะกับภูมิภาคอากาศของประเทศ และได้สร้างระบบภายในควบคุมดูแลการปลูก ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิมหลายเท่า โดยการนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการฟาร์ม มาจากการไปร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในเนเธอร์แลนด์เพื่อสร้างโรงเรือนเหมาะกับอากาศไทย และร่วมมือกับเอกชนเนเธอร์แลนด์ที่ได้พัฒนาระบบภายในดูแลการปลูก ในปัจจุบันบริษัทเป็นแบรนด์มะเขือเทศที่ใหญ่สุดในไทย

“ลี อายุ จือปา” ผู้ก่อตั้ง ร้านกาแฟและโรงคั่วกาแฟเพื่อสังคม แบรนด์ อาข่า อ่ามา คอฟฟี่ กล่าวว่า ได้มุ่งศึกษาองค์ความรู้ในการทำธุรกิจกาแฟเพื่อสร้างผลผลิตกาแฟที่มีคุณภาพสู่ผู้บริโภคและได้นำผลผลิต เมล็ดกาแฟไปร่วมส่งประกวดกับองค์กรกาแฟชนิดพิเศษแห่งยุโรป ที่อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และออสเตรีย เพื่อทดสอบคุณภาพ ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น รวมถึงมุ่งขยายเครือข่ายและปรับทำให้ชุมชนปลูกกาแฟอินทรีย์ โดยมีสาขาเปิดให้บริการ 3 แห่งใน จ.เชียงใหม่

“อานนท์ บุณยประเวศ” ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคฟาร์ม กล่าวว่า ได้พัฒนาเทคโนโลยี เพื่อตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำ เพื่อใช้ในการเกษตรของประเทศ ในชื่อ เล่นดิน และเล่นน้ำ โดยอยู่ในรูปแบบของซอฟต์แวร์ อีกทั้งบริษัทมีฐานข้อมูลทางการเกษตรเกี่ยวกับพืชการเกษตรมากกว่า 3 หมื่นสายพันธุ์ เพื่อทำให้การเกษตรมีประสิทธิภาพสูงสุด เชื่อมั่นว่า จะส่งผลให้ธุรกิจการเกษตรของประเทศไทยเติบโตด้วยเทคโนโลยีมาบริหารจัดการ