posttoday

ปรัชญาทำธุรกิจแบบญี่ปุ่น

13 กันยายน 2561

ชาติที่ใส่ใจความรู้สึกของคนอื่นมากที่สุดในโลกเห็นจะไม่พ้นคนญี่ปุ่น

สยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ชาติที่ใส่ใจความรู้สึกของคนอื่นมากที่สุดในโลกเห็นจะไม่พ้นคนญี่ปุ่น ใครไปญี่ปุ่นก็จะประทับใจกับความช่างคิดและใส่ใจคนอื่นอยู่เสมอที่พบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น การห่อของอย่างประณีตบรรจงให้กับลูกค้า การไม่คุยกันเสียงดังบนรถสาธารณะ หรือในการแข่งขันฟุตบอลโลก ณ ประเทศรัสเซีย เมื่อไม่นานมานี้ ถึงแม้ทีมชาติญี่ปุ่นจะตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย นักฟุตบอลทีมชาติก็ได้ทำความสะอาดห้องแต่งตัวอย่างเรียบร้อยเหมือนไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน พร้อมกับพับนกกระเรียน 3 ตัว วางไว้พร้อมป้ายขอบคุณเป็นภาษารัสเซียอีกด้วย เมื่อข่าวนี้แพร่ไปในโลกโซเชียล ทุกคนก็รู้สึกประทับใจในความละเอียดอ่อน และการนึกถึงความรู้สึกของผู้อื่นอยู่ตลอด

ตัวผมเอง มีเรื่องหนึ่งที่ประทับใจมาก และเรียนรู้ความใส่ใจนี้จากคนญี่ปุ่น นั่นก็คือเรื่อง ไข่ไก่ อาหารญี่ปุ่นนั้นมีหลายเมนูที่ต้องรับประทานกับไข่ดิบ เช่น ข้าวหน้าไข่ดิบ สุกียากี้ที่นำเนื้อมาชุบไข่ดิบแล้วรับประทาน หรือจะทานอุด้งพร้อมกับไข่ดิบ ดังนั้น เจ้าของฟาร์มไข่จะตระหนักถึงความสำคัญที่จะต้องผลิตไข่ที่มีคุณภาพ สะอาด และปราศจากเชื้อซาลโมเนลลา ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดท้องร่วง การเลี้ยงไก่ที่นั่นจะเริ่มจากการตรวจเช็กไก่ทุกตัวไม่ให้มีเชื้อซาลโมเนลลาก่อนที่จะนำเข้าโรงเลี้ยง และโรงเลี้ยงไก่เองก็จะใช้ตาข่ายรองพื้นเพื่อป้องกันไม่ให้ทั้งไก่และไข่สัมผัสกับของเสียที่ไก่ปล่อยออกมา หลังจากนั้น จะคัดแยกไข่ดีออกจากไข่ที่มีรอยแตก และไข่ที่เปื้อนมูลไก่ออก เพื่อส่งไปยังศูนย์คัดขนาดและบรรจุภัณฑ์

ยังไม่จบแค่นี้นะครับ ไข่จะถูกล้างด้วยแปรงและน้ำผสมกรดไฮโปคลอรัส ใช้โอโซนฆ่าเชื้อและกำจัดกลิ่น ทำให้แห้งด้วยพัดลม จากนั้นนำไข่ไปส่องผ่านอุปกรณ์การส่องเพื่อตรวจสอบคุณภาพภายใน และเมื่อถึงขั้นตอนแพ็กไข่ลงกล่องอันเป็นขั้นตอนสุดท้าย ไข่ทั้งหมดจะถูกจับคว่ำเอาด้านแหลมลง เพื่อให้ไข่แดงลอยขึ้นแตะกับโพรงอากาศ เพราะไข่แดงเบากว่าไข่ขาว วิธีนี้ป้องกันไม่ให้ไข่แดงที่มีโปรตีนสูง ซึ่งเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของเชื้อซาลโมเนลลาได้สัมผัสกับเปลือกไข่ที่อาจยังมีเชื้อซาลโมเนลลาติดอยู่ และเมื่อแพ็กไข่เสร็จก็นำไปส่งขายได้

นี่แค่เรื่องไข่ๆ เองนะครับ ความใส่ใจผู้บริโภคแบบเช่นนี้ ยังพบได้ในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นแทบจะทุกอย่าง เร็วๆ นี้ ผมเลยจะพาคณะผู้ประกอบการไทยร่วมกิจกรรม “Krungsri Business Journey : Advanced Food Technologies in Japan” เพื่อไปศึกษา เยี่ยมชมธุรกิจที่เกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านอาหารในญี่ปุ่น อัพเดทเทรนด์ธุรกิจ รวมถึงเรียนรู้กระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยถนอมอาหาร ผมจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมนี้มาแชร์ให้ท่านผู้อ่านในครั้งต่อไป