posttoday

AppLing แผนที่เพื่อการเกษตรอัจฉริยะ

07 กันยายน 2561

“แอพลิง” โมบายโซลูชันแผนที่เพื่อการเกษตรอัจฉริยะ จากผู้ก่อตั้งที่มีความเชี่ยวชาญด้านภูมิสารสนเทศมายาวนาน จึงต้องการนำเทคโนโลยีที่ได้พัฒนา มาเป็นเครื่องมือสำคัญให้แก่เกษตรกรรายย่อย

วราภรณ์ เทียนเงิน

“แอพลิง” โมบายโซลูชันแผนที่เพื่อการเกษตรอัจฉริยะ จากผู้ก่อตั้งที่มีความเชี่ยวชาญด้านภูมิสารสนเทศมายาวนาน จึงต้องการนำเทคโนโลยีที่ได้พัฒนา มาเป็นเครื่องมือสำคัญให้แก่เกษตรกรรายย่อยมีความแข็งแกร่งมากที่สุด และร่วมเปลี่ยนโฉมภาคการเกษตร เนื่องจากไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และส่วนใหญ่เป็นการทำเกษตรแบบดั้งเดิม มีการนำเทคโนโลยีมาร่วมบริหารจัดการในระดับที่น้อย

“นำพล เลปวิทย์” กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้ง แอพพลิเคชัน แอพลิง บริษัท ทริพเพิล ไอ จีโอกราฟฟิก เปิดเผยว่า ได้จัดทำ แอพพิเคชั่น “AppLing แอพลิง”  โดยเป็น “โมบายโซลูชันแผนที่เพื่อการเกษตรอัจฉริยะ” โดยระบบ จะประกอบด้วย ระบบให้บริการภาพถ่ายแผนที่ (Ling Image Map Server) และ โมบายแอพเพื่อใช้บริหารงานในแปลงเกษตรกรรม (Ling Mobile App)

AppLing แผนที่เพื่อการเกษตรอัจฉริยะ

“แอพลิง” จึงเปรียบเสมือนเป็น ผู้ช่วยสำหรับภาคเกษตรกร ที่บริษัทได้พัฒนาระบบเพื่อช่วยในหารบริหารจัดการเกษตรกรรม สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความแม่นยำมากขึ้น พร้อมกับการบันทึกข้อมูลและส่งผลดีต่อการเพิ่มประสิทธิภาพของฟาร์ม รวมถึงมีหลากหลายฟังก์ชั่นไว้ให้บริการแก่ลูกค้า และจะทยอยเปิดตัวอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันจากเทคโนโลยีของโดรน จึงสามารถบริหารจัดการแผนที่และดูข้อมูลของการทำเกษตรกรรมได้ทั้งหมด พร้อมสามารถวัดแผนที่และเห็นข้อมูลภาพถ่ายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ได้รับข้อมูลที่มีความแม่นยำ และช่วยลดต้นทุนให้แก่การทำเกษตร อีกทั้งจะช่วยลดการสูญเสียที่ไม่จำเป็นในการทำฟาร์ม

สำหรับการติดตามข้อมูลสามารถเปิดดูได้ผ่านแอพพลิเคชั่น แอพลิง จึงมีความเหมาะสมกับภาคการเกษตรที่ทำพื้นที่ขนาดใหญ่ประมาณ 100 ไร่ขึ้นไป และมีความสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ผลักดัน การทำเกษตรกรแปลงใหญ่ ซึ่งได้ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มกันจำนวน 2,000-3,000 กลุ่มทั่วประเทศ และกลุ่มชุมชนต่างๆ โดยการรวมกลุ่มสู่เกษตรกรแปลงใหญ่ จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่ภาคเกษตรกร

AppLing แผนที่เพื่อการเกษตรอัจฉริยะ

ทั้งนี้ “แอพลิง” กำลังพัฒนาเวอร์ชั่นให้มีความสมบูรณ์ที่สุด และ คาดว่าจะแล้วเสร็จได้ในช่วงปลายปี 2561 นี้ จึงจะเจาะตลาดสู่กลุ่มลูกค้าในประเทศไทยในระยะแรก

“นำพล” กล่าวว่า การขยายธุรกิจมาสู่ทำแอพพลิเคชั่นมาจากการที่ บริษัท ทริพเพิล ไอ จีโอกราฟฟิก ได้เป็นบริษัทที่ปรึกษา ด้าน “Geographic Information System” หรือภูมิสารสนเทศ เราให้บริการด้านวางระบบแผนที่ วิเคราะห์ข้อมูล พัฒนาโปรแกรมประยุกต์ และข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม เรามีความเชี่ยวชาญพร้อมทีมงานด้าน GIS Solution ส่งผลให้ปัจจุบัน บริษัทเป็นส่วนหนึ่งตลาดจีไอเอสของประเทศไทย มีกลุ่มลูกค้า ทั้หน่วยงานขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ของภาครัฐ รวมถึงกลุ่มลูกค้าภาคเอกชน ขนาดกลางขึ้นไป

จากการที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญด้านภูมิสารสนเทศอยู่แล้ว ทำให้ได้ต่อยอดจากองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ มาขยายสู่การนำไปใช้เพื่อการเกษตรของประเทศไทย และบริษัทมีฐานข้อมูลในด้าน ดาต้า พร้อมกันนี้ มีทีมที่เป็นคนรุ่นใหม่มาร่วมงาน จึงช่วยผลักดันการขับเคลื่อนองค์กรให้มีการเติบโตไปข้างหน้า ประกอบกับการเป็นทีมสตาร์ทอัพ จึงส่งผลดีต่อการบริหารงานภายในให้มีความคล่องตัวอย่างมาก

ขณะเดียวกัน แอพลิง ได้รับการส่งเสริมจาก กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ เทดฟันด์ (TED Fund) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในปีล่าสุด ส่งผลต่อการขับเคลื่อนและการพัฒนาเทคโนโลยีระบบภายในบริษัทสู่ลูกค้า


แผนในระยะต่อไป จะขยายสร้างแบรนด์สู่กลุ่มเป้าหมาย เพื่อทำให้ลูกค้ารู้จัก แอพลิง เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตรกร และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร ซึ่งจะช่วยสร้างการเกษตรยุคใหม่ และสร้างเกษตรกรไทยให้แข็งแกร่งด้วยการมีเทคโนโลยีมาใช้บริหารจัดการ เนื่องจากกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีในภาคการเกษตรจะเป็น ภาคเอกชนรายใหญ่ของประเทศเป็นหลัก ส่วนเกษตรกรรายย่อย จะเป็นกลุ่มที่ยังไม่เข้าถึงการใช้เทคโนโลยีมากนัก

AppLing แผนที่เพื่อการเกษตรอัจฉริยะ


“ความท้าทายสำคัญคือ การสร้างเทคโนโลยีให้มีความเหมาะสมและตรงกับความต้องการของตลาด การสร้างธุรกิจให้เติบโตและมีความยั่งยืน พร้อมผลักดันทำให้เทคโนโลยีเข้าสู่ เกษตรกรรายย่อยของประเทศได้มากที่สุด” นำพล กล่าว


พร้อมกันนี้ บริษัทยังมีความสนใจขยายแอพพลิเคชั่นสู่ตลาดในต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดในภูมิภาคอาเซียน ทั้งประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม เมียนมา และลาว คาดว่าจะเจาะตลาดสู่ต่างประเทศได้ในปี 2562 ส่วนใหญ่ภาคการเกษตรในประเทศเพื่อนบ้านจะเป็นรายย่อยที่มีรูปแบบคล้ายกับไทย


“นำพล” กล่าวต่อว่า แผนงานในระยะยาว “AppLing แอพลิง” พร้อมก้าวสู่ ผู้นำในด้านเทคโนโลยีแผนที่เพื่อการเกษตรของประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้ เพื่อร่วมเปลี่ยนแปลงภาคการเกษตรและสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่


“AppLing” เป็น สตาร์ทอัพเกษตร (AgTech) ของประเทศไทย และเป็น สาขาหลักที่ภาครัฐต้องการผลักดันให้สตาร์ทอัพการเกษตรของไทยมีการเติบโตและโดดเด่นในตลาดโลก