posttoday

แรงงานรับเมกะเทรนด์ มิลเลนเนียล-กิ๊กอีโคโนมี

07 กันยายน 2561

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่จะมีผลต่ออุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ตลอดจนตลาดแรงงาน ส่งผลให้องค์กร นายจ้าง ต้องเร่งให้ความสำคัญในการ เตรียมความพร้อมและปรับตัว

โดย...ภูวดล โกมลรัตนเสถียร

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่จะมีผลต่ออุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ตลอดจนตลาดแรงงาน ส่งผลให้องค์กร นายจ้าง ต้องเร่งให้ความสำคัญในการ เตรียมความพร้อมและปรับตัว เพื่อรองรับแนวโน้มของทรัพยากรบุคคลที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน

อดิศักดิ์ จันทรประภาเลิศ ผู้อำนวยการโครงการสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย และคันทรี่ ลีดเดอร์ บริษัท เอออน ประเทศไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มของตลาดแรงงานของไทยจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของประชากร จากกลุ่มมิลเลนเนียลที่จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในองค์กร รวมถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคต ที่จะส่งผลให้องค์กรภาคธุรกิจยังเห็นความสำคัญและมีความจำเป็นในการต่ออายุผู้บริหารที่เกษียณ หรือผู้บริหารที่มีประสบการณ์กลับเข้ามาสู่ตลาดแรงงานในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่าน หรือในช่วง 8-12 เดือน สำหรับการฝึกอบรมทักษะพนักงานเข้ามาทดแทน

ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนผ่านของดิจิทัลจะส่งผลให้องค์กรต่างๆ ต้องเร่งปรับตัวและลงทุนในการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะและขีดความสามารถ อีกทั้งบรรยากาศและวัฒนธรรมขององค์กรจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน โดยเฉพาะผู้นำองค์กรหรือนายจ้างที่ต้องปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ เพื่อบริหารแรงงานที่มีความหลากหลายและความแตกต่าง ให้สามารถทำงานร่วมกับองค์กรอย่างผูกพันและมีส่วนร่วมในระยะยาว ซึ่งนับเป็นความท้าทายของผู้นำองค์กร ยุคใหม่

ศิริยุพา รุ่งเริงสุข รองผู้อำนวยการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว เพิ่มเติมว่า เมกะเทรนด์ใหญ่ของโลกในตลาดแรงงาน จะมาจากความไม่แน่นอนซึ่งถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของฝ่ายบุคคลและนายจ้าง โดยจากนี้เทรนด์ รูปแบบการทำงานที่หลากหลาย และแรงงานระยะสั้น (Gig Economy) จะเกิดขึ้นในทุกเพศ ทุกวัย และกระจายในทุกธุรกิจ

ดังนั้น สิ่งที่ต้ององค์กรต้องคำนึงถึง คือ ความยืดหยุ่นในการทำงาน การสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์กร มีเวทีให้พนักงานแสดงศักยภาพเพื่อให้เกิดการยอมรับ รวมถึง Personalization เพื่อตอบสนองความต้องการของแต่ละบุคคล ทั้งเรื่องของผลตอบแทนและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

นอกจากนี้ องค์กรจะต้องเร่งพัฒนาบุคลากร เสริมทักษะ ซึ่งแม้ตัวเลขการว่างงานของไทยอยู่ในอัตราที่ต่ำ แต่ยังประสบปัญหาเรื่องทักษะขีดความสามารถที่อาจตามหลังประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย รวมถึงองค์กรจะต้องนำบิ๊ก ดาต้าเข้ามาปรับใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล วางแผนกำลังคน และธุรกิจเพื่อรองรับเมกะเทรนด์ที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานองค์กรไทยเข้าสู่ระดับสากล เอออน ร่วมกับ สถาบันฯ ศศินทร์ ได้สำรวจและประกาศรายชื่อ 12 องค์กรที่ได้รับรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย ประจำปี 2561 โดยรางวัลที่สุดแห่ง สุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย ได้แก่ บริษัท ฟู้ดแพชชั่น และรางวัล สุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย อาทิ บริษัท เชียงใหม่เบเวอเรช บริษัท ซีพีแรม บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป โรงพยาบาลพญาไท เป็นต้น

ขณะที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล และ แมริออท เวเคชั่น คลับ ประเทศไทย ได้รับรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นระดับโลก ประจำปี 2561