posttoday

Workplace ในมุมมองของ Calbee Japan

01 กันยายน 2561

โดย...ดิลก ถือกล้า [email protected]

โดย...ดิลก ถือกล้า [email protected]

ช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสดูรายการโปรดอยู่รายการหนึ่ง ชื่อ รายการ The Professional ทางช่อง NHK World ที่เป็นช่องภาษาอังกฤษของ NHK ที่เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งชาติของญี่ปุ่น รายการนี้เป็นรายการที่จะคล้ายรายการไลฟ์โชว์ คือ ติดตามชีวิตของนักบริหารในองค์กรทั้งระดับ SME หรือองค์กรขนาดใหญ่ โดยเข้าไปดูในหน้างานการทำงาน
จริง ติดตามกิจกรรมในการบริหารธุรกิจจริง รวมถึงดูวิธีการบริหารจัดการปัญหาของผู้บริหารท่านนั้นว่าเจอปัญหาอะไร แล้วจัดการอย่างไร สำเร็จหรือล้มเหลวหรือไม่ แล้วถ้าล้มเหลวเขาฟื้นอย่างไร รวมทั้งทางรายการจะให้ผู้บริหารท่านนั้นได้แสดงแนวคิด ปรัชญาในการบริหารจัดการธุรกิจ และการบริหารคนอย่างน่าสนใจ

รายการครั้งล่าสุด ที่ผมดูแล้วอยากจะมาเล่าให้ฟัง เป็นช่วงที่เขาติดตามการทำงานของคุณอากิระ มัตสุโมโต (Mr.Akira Matsumoto) ที่เป็น Chairman & CEO ของ Calbee Foods Japan ในเวลานั้น น่าสนใจมากเพราะเขาอยู่ในตำแหน่งนี้เป็นเวลาร่วม 10 ปี ก่อนที่จะเกษียณเมื่ออายุได้ 70 ปี เมื่อเดือน เม.ย. 2561 เขาได้ชื่อว่าเป็น Reformist หรือนักปฏิรูป จากการที่เขาได้เปลี่ยนแนวทางหลายอย่างในการบริหารคน การจัดการองค์กร และปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารธุรกิจ จนทำให้สร้างการเติบโตให้กับ Calbee Foods ได้ถึง 70% รวมทั้งได้ชื่อว่าเป็นองค์กรที่เด่นมากทางด้านบรรยากาศการทำงานที่เอื้อต่อความหลากหลาย และเป็นองค์กรที่ดูแลพนักงานหญิงได้เป็นอย่างดี

แต่ที่สะดุดความคิดผมมากในรายการวันนั้น คือ แนวคิดในการจัดสำนักงานที่เขาไม่กำหนดที่นั่งประจำ เขาเรียกการจัดที่นั่งของเขาว่า เป็น Hot Desk พนักงานแต่ละคนที่มาทำงานตอนเช้า เขาจะเข้ามาที่เคาน์เตอร์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นจอ LCD แสดงภาพแผนผังที่นั่งคล้ายๆ กับโรงหนังเวลาที่เราไปซื้อตั๋ว เขาจะจัดที่นั่งให้พนักงานเลือกได้ 3 แบบ คือ แบบที่หนึ่ง แบบที่ต้องการมีการสื่อสารพูดคุย (Communication) แบบที่สอง แบบที่ต้องการการทำงานคนเดียว แต่อาจจะมีการสื่อสารเป็นระยะ (Individual) และแบบสุดท้าย คือแบบที่ต้องการสมาธิคิดงานหรือจดจ่อกับการทำงานแบบลึกซึ้ง (Concentration) โดยเขาพาไปแนะนำโต๊ะทำงานแต่ละแบบ มีรูปแบบดังนี้

แบบที่ต้องการมีการสื่อสารพูดคุย (Communication) จะเป็นโต๊ะทำงานที่เป็นกลุ่มๆ กลุ่มละ 6 คน หันหน้าเข้าหากัน เวลาทำงานก็พูดคุยกัน แลกเปลี่ยนกัน ทำให้การสื่อสาร การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ต้องใช้ห้องประชุมลดน้อยลงไป

แบบที่ต้องการการทำงานคนเดียว แต่อาจจะมีการสื่อสารเป็นระยะ (Individual) จะเป็นโต๊ะทำงานเดี่ยว แต่ไม่แยกออกจากคนอื่น จะวางไว้เป็นโต๊ะเดี่ยวๆ ไม่ห่างกันมาก และไม่มีคอกกั้น คล้ายๆกับการจัดโต๊ะในห้องสอบบ้านเรา แต่จะไม่วางไว้อย่างเป็นระเบียบแบบนั้น เพื่อให้บรรยากาศผ่อนคลาย

แบบที่ต้องการสมาธิคิดงานหรือจดจ่อกับการทำงานแบบลึกซึ้ง (Concentration) รูปแบบของโต๊ะทำงาน จะวางเอาไปไว้ในมุมที่เงียบสงบ เป็นส่วนตัวมากๆ โต๊ะทุกตัวจะหันหน้าออกไปนอกหน้าต่างกระจก ที่มองเห็นวิวข้างนอกเป็นสวน หรือเป็นที่มองแล้วสบายตา

ผมมองว่าการจัดโต๊ะทำงานแบบนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงการจัดโต๊ะทำงาน แต่เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลดขั้นตอนของการทำงาน เพิ่มความรวดเร็วในการตัดสินใจ เพราะไม่ต้องรอลำดับขั้นในองค์กร ช่วยทำลายกำแพงระหว่างหน่วยงานเพราะมีการสื่อสาร การไหลเวียนของข้อมูลถึงกันได้ง่ายตลอดเวลา ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนจะช่วยทำให้องค์กรสามารถเป็นองค์กรที่ Agile หรือยืดหยุ่นต่อการปรับตัวได้เป็นอย่างดี

ไม่น่าแปลกใจ ที่คนอายุ 70 ปีอย่างคุณอากิระ มัตสุโมโต จะได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปฏิรูปองค์กรและธุรกิจ เพราะวิธีคิดแม้เพียงเรื่องการจัดที่นั่งก็ล้ำหน้าหลายองค์กรไปแล้ว