posttoday

โลกเปลี่ยน เรียนให้เร็ว

11 สิงหาคม 2561

โดย...ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ โค้ชผู้บริหารที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์โค้ชนานาชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอคคอมแอนด์อิมเมจ อินเตอร์เนชั่นแนล

โดย...ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ โค้ชผู้บริหารที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์โค้ชนานาชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอคคอมแอนด์อิมเมจ อินเตอร์เนชั่นแนล

การเปลี่ยนแปลงรอบๆ ตัวเรา นำมาซึ่ง ทางเลือกใหม่ๆ ในการใช้ชีวิตและการเรียนรู้ การวิตกกังวลมากไปกับการเปลี่ยนแปลง อาจทำให้เรามองข้ามถึงข้อดีและทางเลือกต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นมากมาย และทำให้เรายังตัดสินใจบนพื้นฐานของทางเลือกเดิมๆ ได้

หากย้อนกลับไปช่วงก่อนปี ค.ศ. 1995 มีคนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้น้อยกว่าพันล้านคนจากทั่วโลก แต่ในปี 2005 มีคนเกินหนึ่งพันล้านที่เข้าถึงได้ ในปี 2010 มีจำนวนคนเพิ่มขึ้นถึงประมาณสองพันล้านที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตและเชื่อมโยงกับเครือข่ายต่างๆ ได้ ภายในปี 2020 มีการคาดการณ์ว่าจะมีมากถึงสี่พันล้าน นอกจากนั้นยังมีการคาดการณ์ว่าอุปกรณ์สื่อสารสองหมื่นล้านเครื่องจะสามารถเชื่อมต่อกันผ่านทางอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียได้

ผลดีที่ตามมา คือ เราสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้เร็วขึ้นและราคาถูกขึ้น เราสามารถแบ่งปันข้อมูลของเราได้ทันทีที่เราต้องการ เราสามารถสนทนากับผู้ที่อยู่อีกทวีปหนึ่งได้โดยแทบไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เราจะหาซื้อสิ่งของอะไรก็ได้จากทั่วทุกมุมโลก ในอดีตเราต้องมีทั้งอุปกรณ์เพื่อฟังเพลง ถือกล้อง ถือโทรศัพท์ มือถือ แบกแล็ปท็อปไปไหนมาไหนด้วยในยามเดินทาง ปัจจุบันทุกอย่างมาอยู่ในอุปกรณ์สมาร์ทโฟนบางๆ ที่มีน้ำหนักเบาๆ เพียงเครื่องเดียว

ในอดีตดิฉันต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการทำเว็บไซต์ และค่าบริการในการดูแลรักษา แต่ปัจจุบันดิฉันสามารถทำสิ่งเหล่านี้เองได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีความสามารถในการออกแบบใดๆ หรือเก่งกาจด้านเทคโนโลยี และสามารถปรับเปลี่ยนทุกอย่างที่ต้องการได้ด้วยตนเองผ่านโทรศัพท์มือถือ ทำให้สามารถส่งเสริมให้พนักงานที่เคยทำหน้าที่นี้ได้พัฒนาตนเองไปทำโครงการอื่นๆ ที่น่าสนุกกว่าการทำงานจำเจเดิมๆ

ด้านการเรียนรู้และพัฒนาในองค์กรก็ได้รับประโยชน์จากทางเลือกใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเช่นกัน เพียงแต่เราต้องปรับตัวและเรียนรู้เครื่องมือใหม่ๆ อยู่เสมอ เพราะความรู้และทักษะที่ใช้อยู่อาจตกรุ่นเหมือนกระเป๋าที่ซื้อมาแป๊บเดียวก็เชยอย่างรวดเร็ว

 แนวโน้มที่น่าจับตา คือ การสร้างให้บุคลากรในองค์กรมีการเรียนรู้อย่างรวดเร็ว ใช้เวลาในการเรียนรู้ให้คุ้มค่า ที่สุด เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการออกแบบการเรียนรู้แบบ One-Size-Fits-All อาจไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป

แนวโน้มที่ดูจะมีมากขึ้น คือ การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการออกแบบที่ช่วยให้การเรียนรู้ให้เหมาะสมกับบทบาทหน้าที่และสมรรถนะที่บุคลากร และเส้นทางการเติบโตในงานของพวกเขา การเรียนรู้ที่บุคลากรสามารถหยิบมาเรียนได้เองทางออนไลน์แบบครั้งละสั้นๆ เหมือนยืมหนังสือจากห้องสมุดมาศึกษาเฉพาะบท และผสมผสานการเรียนรู้กับผู้รู้ และเพื่อนๆ แบบกลุ่มย่อย มีโค้ช (Coach) ที่มีความสามารถในการช่วยสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ ต่อเนื่อง การฝึกปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่องาน และช่วยกระตุ้นและสนับสนุนการเรียนรู้ให้เป็นรูปธรรม เป็นอีกแนวโน้มที่ได้รับความสนใจอย่างมาก

การออกแบบการเรียนรู้ต้องช่วยให้บุคลากรนำไปปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว เช่น การออกแบบกรณีศึกษาในการฝึกปฏิบัติต้องเหมือนหรือใกล้เคียงหน้างานจริงๆ ให้มากที่สุด และสอดคล้องกับพฤติกรรมการเรียนรู้ของบุคลากรให้มากที่สุด ปัจจุบันเราสามารถใช้เครื่องมือเข้ามาช่วยในการติดตามพฤติกรรมการเรียนรู้ของบุคลากรได้ เช่น โซเชียล มีเดียต่างๆ

อีกแนวโน้มหนึ่งที่องค์กรให้ความสำคัญและเน้นในการพัฒนาบุคลากรในยุคดิจิทัล ก็คือ การพัฒนาทักษะด้านวุฒิภาวะทางอารมณ์ การสื่อสาร การประสานงาน การเจรจาต่อรอง ทักษะระหว่างบุคคล หรือที่เราเรียกว่า Soft Skills ซึ่งมีความสำคัญต่อการปฏิบัติงานและประสานงานระหว่างบุคคลและหน่วยงาน หรือระหว่างองค์กรที่มีประสิทธิภาพท่ามกลางเทคโนโลยีใหม่ๆ

นอกจากนั้น ความพร้อมในการเรียนรู้อย่างยืดหยุ่นและคล่องตัว (Agility) เป็นคุณลักษณะที่ขาดไม่ได้ในการปฏิบัติงานอย่างมีความสุขและสำเร็จในปัจจุบัน หากเราเคยได้ยินว่า ไม่มีใครแก่เกินเรียน ตอนนี้คงจะต้องเสริมด้วยว่า "ไม่มีใครแก่เกินที่จะเรียนและเปลี่ยนแปลง"

 
"แนวโน้มที่ดูจะมีมากขึ้น คือ การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการออกแบบที่ช่วยให้การเรียนรู้ ให้เหมาะสมกับบทบาทหน้าที่และสมรรถนะ ที่บุคลากรและเส้นทางการเติบโตในงานของพวกเขา การเรียนรู้ที่บุคลากรสามารถหยิบมาเรียนได้เองทางออนไลน์แบบครั้งละสั้นๆ เหมือนยืมหนังสือจากห้องสมุดมาศึกษาเฉพาะบท และผสมผสานการเรียนรู้กับผู้รู้ และเพื่อนๆ แบบกลุ่มย่อย มีโค้ช (Coach)  ที่มีความสามารถในการช่วยสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง"