posttoday

Networking

04 สิงหาคม 2561

โดย...ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ

โดย...ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ

เขียนเรื่องบริหารมาติดๆ กันหลายอาทิตย์แล้ว วันนี้ขอคุยเรื่องเบาๆ บ้าง เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ดิฉันได้ไปร่วมงานรับรางวัล ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ และมีโอกาสได้พบคนรู้จัก เพื่อนใหม่ๆ และลูกค้า มีโอกาสได้สร้างเครือข่ายใหม่ๆ ผ่านการสนทนา (Networking) ดิฉันเคยได้ยินว่า โดยทั่วไปคนทุกคนมีเพื่อนฝูงในเครือข่ายมากกว่า 250 คน การสร้างความประทับใจและมิตรภาพที่ดีในโอกาสเช่นนี้อาจจะทำให้ได้รับสัมพันธภาพดีๆ ตามมา หรือเป็นการขยายแวดวงธุรกิจของตนออกไปได้ อย่างไรก็ตามก็ควรปฏิบัติต่อบุคคลที่รู้จักกันอย่างจริงใจ ไม่ใช่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์

การไปร่วมงานครั้งนี้ยังทำให้ดิฉันได้ทบทวนเรื่อง Business Etiquette ที่ดิฉันเคยเรียนรู้จากการทำผิดบ้าง ถูกบ้างในอดีต และได้รับการถ่ายทอดจากผู้รู้ต่างๆ อีกด้วย คำว่า Etiquette อ่านว่า เอท’ทะเค็ท,-คิท ไม่ใช่ เอท-ทิแคว็ท ซึ่งจะพบว่ามีการออกเสียงไม่ถูกต้อง บ่อยๆ คำนี้หมายถึง มารยาทหรือธรรมเนียมปฏิบัติ ซึ่งหากจะค้นหาไปว่ามาจากกฎหรือระเบียบที่ใครตั้งขึ้นมาก็คงจะตอบยาก เพราะเป็นวิถีหรือแบบปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับสืบทอดกันมา และขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของแต่ละประเทศอีกด้วย ในการไปร่วมงานแบบนี้ มีแนวทางหรือธรรมเนียมปฏิบัติที่มองข้ามไม่ได้ ดังต่อไปนี้

นามบัตร ถึงแม้เราไม่จำเป็นต้องแลกนามบัตรกับทุกคนที่ได้รู้จัก แต่หากต้องใช้ นามบัตรก็ควรจะอยู่ในสภาพที่ดี ไม่ยับ ไม่หักงอ ในการแลกนามบัตร ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมใด ยื่นนามบัตรแก่ผู้รับในระดับต่ำกว่าสายตาเล็กน้อย หันตัวอักษรด้านที่อ่านได้ทันทีแก่ผู้รับ ใช้มือขวาหรือสองมือเมื่อยื่นนามบัตร ไม่ด่วนเก็บนามบัตรทันที

ในการทักทายและแนะนำตัว ผู้ชายใช้การจับมือ (Handshake) ถ้าเป็นผู้อาวุโสคนไทยที่เราจำได้ การไหว้แบบไทยๆ ทำให้ผู้ใหญ่เอ็นดูเรามากขึ้น ถ้าเพิ่งรู้จักกับสตรี อาจใช้โค้งศีรษะเล็กน้อยในการทักทาย แทนการยื่นมือให้จับ ยกเว้นว่าเธอยื่นมือมาก่อน ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้เกียรติสตรี ในงานแบบนี้พยายามถือแก้วเครื่องดื่มและจานอาหารด้วยมือซ้าย เพื่อเตรียมการจับมือด้วยมือขวาให้สะดวก และแน่ใจว่ามือไม่เปียก

ทักทายและแนะนำตัว โดยบอกทั้งชื่อ ตำแหน่งงานและบริษัทของคุณ ถ้าบอกแต่ชื่อบางครั้งคู่สนทนาของคุณไม่รู้จะถามอะไรต่อ เมื่ออีกฝ่ายแนะนำตัว ควรกล่าวยินดีที่ได้รู้จักและทวนชื่อของเขาอีกครั้ง (“ยินดีที่ได้รู้จักครับ คุณรุ่งโรจน์”)

หากมีผู้ก้าวเข้ามาร่วมวงสนทนา ควรแสดงอาการต้อนรับและแนะนำให้ทุกคนรู้จักกัน ตามมารยาทการแนะนำตัวเราจะแนะนำผู้ที่เราให้เกียรติน้อยกว่า ให้กับคนที่เราให้เกียรติสูงกว่า และสลับกัน เช่น แนะนำชายให้แก่หญิง แนะนำผู้เยาว์ให้แก่ผู้ใหญ่ แนะนำผู้ที่มีตำแหน่งน้อยให้แก่ผู้ที่มีตำแหน่งที่สูงกว่า หรือแนะนำหัวหน้าหรือพนักงานของเราให้แก่ลูกค้า เพื่อให้การสนทนาในวงใหญ่ไม่มีการขัดเขิน

คุณอาจเกริ่นให้ผู้เพิ่งเข้ามาร่วมวงทราบว่า เขามีอะไรที่คล้ายหรือชอบเหมือนกัน เช่น จบการศึกษาจากที่เดียวกัน ชอบปลูกต้นไม้เหมือนกัน เพื่อให้ทุกคนมีเรื่องราวคุยกันต่อได้ ไม่ควรทำให้ใครรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง

Small Talk คือการสนทนาเพื่อสร้างสัมพันธ์เบื้องต้น ซึ่งไม่ใช่การคุยลงลึกเรื่องทำธุรกิจ แต่เป็นการทำความรู้จักกันเบื้องต้น ผู้ที่เชี่ยวชาญด้านนี้นอกจากสร้างความประทับใจได้แล้ว ยังสามารถทำให้คนรอบๆ ตัวรู้สึกสบายใจ ไม่เกร็งขณะที่คุยอยู่กับเขาอีกด้วย

หัวข้อการสนทนาที่เหมาะสม เช่น ภาพยนตร์ หนังสือ การพัฒนาเรียนรู้ด้านต่างๆ กีฬา งานอดิเรก เรื่องที่นิยมและน่าสนใจในปัจจุบันที่ไม่ใช่ข่าวด้านลบของประเทศหรือวัฒนธรรมอื่นๆ ไม่ควรชวนคุยเรื่องความขัดแย้งต่างๆ การเจ็บป่วยของครอบครัว ศาสนาการเมือง ตั้งใจสนทนาอยู่กับคนข้างหน้าเรา ไม่ควรวอกแวก สนใจผู้อื่น การสนทนาที่ดี จะมีการพูดและถามอีกฝ่ายสลับกันไป ไม่ใช่เป็นผู้ตอบอย่างเดียว และไม่สนใจถามเรื่องราวของอีกฝ่ายเลย

การไปร่วมสังสรรค์หรือสมาคมแบบ Networking เรามักจะไม่ทำตัวติดกับเพื่อนสนิทหรืออยู่กับคนที่ไปด้วยกันตั้งแต่ต้นจนจบงาน หรือหลังจากได้ทำความรู้จักกับใครสักคน เราก็จะไม่คุยกับเขานานนัก 5-10 นาทีเท่านั้น เราสามารถขอตัวและเดินไปทำความรู้จักกับบุคคลใหม่ๆ ซึ่งไม่ถือเป็นการเสียมารยาทแต่อย่างใด หากมีวิธีการปลีกตัวไปอย่างเหมาะสม และกล่าวยินดีหรือชื่นชมคู่สนทนาก่อนจากไป

ก่อนกลับและออกจากงานควรหาโอกาสบอกลาเจ้าภาพ แสดงความชื่นชมการจัดงานเลี้ยงและบอกความประทับใจ เมื่อกลับถึงบ้านนำนามบัตรมาจัดเก็บอย่างดี และหากคุณอยากที่จะสานมิตรภาพกับใครก็ควรบันทึกเรื่องราว ความชอบพิเศษของเขาที่ได้ฟังจากการสนทนาเก็บไว้ เพราะถ้าได้พบกันอีกและคุณยังจำได้ก็จะทำให้อีกฝ่ายเห็นว่าคุณให้ความสำคัญกับเขานะคะ