posttoday

ค้าปลีกต้องเปลี่ยน รับมือดิจิทัลดิสรัปชั่น

04 กรกฎาคม 2561

ในยุคที่ทุกธุรกิจต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนผ่านและเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเข้มข้น ธุรกิจ ค้าปลีกก็เป็นอีกหนึ่งเซ็กเตอร์ที่ต้องเร่งปรับตัวรับมือสถานการณ์ดังกล่าว

โดย...ปากกาด้ามเดียว

ในยุคที่ทุกธุรกิจต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนผ่านและเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเข้มข้น ธุรกิจ ค้าปลีกก็เป็นอีกหนึ่งเซ็กเตอร์ที่ต้องเร่งปรับตัวรับมือสถานการณ์ดังกล่าว โดยผลสำรวจจาก Global Consumer Executive Top of Mind survey, No Normal is the New Normal : Make disruption work for your business โดย เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล และซีจีเอฟ ระบุว่า ผู้นำธุรกิจ หรือซีอีโอ ต้องเปลี่ยนแปลงในระดับที่ใกล้เคียงกันเพื่อให้ยังสามารถแข่งขันได้

"ปัจจุบัน ตลาดผู้บริโภคและธุรกิจค้าปลีกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ซีอีโอจำเป็นต้องรับฟังผู้บริโภค คาดการณ์อนาคตและมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงธุรกิจ" วิลลี่ ครูห์ ประธาน ฝ่ายธุรกิจผู้บริโภคและค้าปลีก เคพีเอ็มจี กล่าว

ท่ามกลางอุปสรรคในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งภายในและภายนอก ทั้งสองปัจจัย นับเป็นกุญแจสำคัญในการดำเนินงานภายในองค์กรที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง หลายบริษัทที่ไม่สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทัน

ผลสำรวจดังกล่าวชี้ว่า ในอีก 2 ปี ข้างหน้า หรือภายในปี 2563 สถานการณ์ของธุรกิจค้าปลีกจะเปลี่ยนแปลงไป อย่างมาก โดยซีอีโอลงความเห็นว่า รูปแบบธุรกิจในปัจจุบันและแบบดั้งเดิมจะไม่สามารถอยู่รอดจากวิกฤตการเปลี่ยน แปลงทางดิจิทัล ต้องมีการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่

นอกจากนี้ จำนวนหน้าร้านจะลดลง โดยผู้ทำแบบสำรวจจากทวีปอเมริกาเหนือสัมผัสถึงการเปลี่ยนแปลงนี้โดยตรง ซึ่ง 37% ลงความเห็นว่า มีแผนจะ ปิดหน้าร้านภายใน 2 ปี และยอดขาย ที่เพิ่มขึ้นจะมาจากการจำหน่ายผ่าน ช่องทางจัดจำหน่ายของตนเอง เพื่อ เพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็ว

ปีเตอร์ ฟรีดแมน กรรมการผู้จัดการ ซีจีเอฟ กล่าวเพิ่มเติมว่า หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจที่จะได้เห็น คือ การวางแผนกลยุทธ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมให้มีความสำคัญมากกว่ากลยุทธ์อื่นๆ สะท้อนได้จากผู้บริโภค โดยเฉพาะชาวมิลเลนเนียลที่มีอัตราการใช้จ่ายสูงถึง 2.75 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก การใช้จ่ายของผู้บริโภคทั้งหมด ต้องการทราบว่า จุดยืนของแต่ละธุรกิจค้าปลีกคืออะไร เนื่องจากผู้บริโภคเลือกที่จะ ใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและชุมชน ดังนั้น ผลตอบแทนทางการเงินไม่เพียงพออีกต่อไป

ขณะที่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ความท้าทาย 3 อันดับแรกของธุรกิจค้าปลีก ได้แก่ ความคาดหวังและการเปลี่ยนแปลงของประชากร อยู่ที่ 34% คู่แข่งที่มาพร้อมกับธุรกิจรูปแบบใหม่ 31% และร้านค้าปลีกที่ออกแบบผลิตภัณฑ์ของตนเอง 26%

ด้าน นิตยา เชษฐโชติรส กรรมการบริหาร ฝ่ายธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าวว่า ทุกวันนี้ ผู้บริโภคกำลังมองหา คุณค่า ความสะดวก และประสบการณ์เฉพาะตัว ซึ่งแนวโน้มความต้องการเหล่านี้ จะ ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของตลาด และรูปแบบธุรกิจในปัจจุบันอย่างที่ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ดังนั้น เพื่อแข่งขันกับคู่แข่งที่เข้ามาทดแทน ธุรกิจค้าปลีกมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยน เพื่อที่จะได้แข่งขันกับคู่แข่งที่มาพร้อมกับธุรกิจรูปแบบใหม่และสตาร์ทอัพที่กำลังเติบโต โดยนวัตกรรมและคู่ค้าทางธุรกิจจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนแปลง

สำหรับธุรกิจค้าปลีกที่มีแบรนด์ผลิตภัณฑ์ของตนเองอาจจำเป็นต้องรับมือกับผู้ผลิตสินค้าในบางกรณี ตัวอย่างเช่น ถ้าสินค้าของเรามีราคาสูงผู้บริโภคจะมองสินค้าทดแทน หรือถ้าผู้ผลิต เดินหน้าขายสินค้าของพวกเขาเองตรงไปยังผู้บริโภค ธุรกิจค้าปลีกอาจทดแทนด้วยการผลิตสินค้าของตนเอง หรือปรับราคาสินค้าของตนเองให้แข่งขันได้

การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งนั้น ผู้นำองค์กรถือเป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรกๆ ที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ วิสัยทัศน์ของผู้นำ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการนำพาองค์กรว่าจะอยู่รอด หรือจะร่วง