posttoday

สังคมผู้สูงอายุ หนุนอุตสาหกรรมยา

29 มิถุนายน 2561

นายกสมาคมเภสัชกรรมฯ มอง แนวโน้มไทยสู่ผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ช่วยดันอุตฯ ยา 1.7 แสนล้านโตฉลุย

โดย...ภูวดล โกมลรัตนเสถียร

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ หรือมีคนอายุกว่า 60 ปีมากกว่า 20% ของประชากร ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า นอกจากประเทศไทยจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรดังกล่าว ยังต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนาแนวธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการเติบโตด้วย โดยเฉพาะ ธุรกิจอุตสาหกรรมยา ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสังคมผู้สูงอายุ

ภก.รศ.ดร.สินธุ์ชัย แก้วกิติชัย นายกสมาคมเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมป์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์อุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบันของไทยเติบโตไปในทิศทางบวก มีมูลค่าประมาณ 1.7 แสนล้านบาท และมีโอกาสขยายตัวอีกมากจากศักยภาพของประเทศ หลังแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาดูแลใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย

อีกปัจจัยบวกที่สำคัญของผู้ผลิตยาไทย คือ ภาคการส่งออก ที่มีตลาดส่งออกสำคัญในอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม เนื่องจากประเทศเหล่านี้ไว้วางใจคุณภาพและมาตรฐานการผลิตยาของไทย

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีจุดอ่อนจากการที่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าส่วนผสมยาจากต่างประเทศที่ค่อนข้างผูกขาดตลาดยาของไทย จากเดิมที่ต้องนำเข้าจากกลุ่มประเทศยุโรป กลายเป็นการนำเข้าหลักจากจีนและอินเดีย ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ปกติเกิดขึ้น เช่น สงคราม การคว่ำบาตร สงครามทางการค้า ที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าวัตถุดิบและส่วนประกอบยา ปัจจัยเสี่ยงนี้จะทำให้การผลิตยาของไทยต้องชะงัก จนยาอาจขาดตลาดได้

ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมมือกันสนับสนุนให้ผู้ผลิตยาของไทยใช้งานวิจัยเพื่อพัฒนาการผลิตยาในประเทศ รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตยาได้เจอกับเจ้าของผู้ผลิตวัตถุดิบและส่วนประกอบยารายใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมยาของไทยให้เกิดการพัฒนาและก้าวหน้า รองรับการเติบโตในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ขณะเดียวกัน ภาครัฐจะต้องสนับสนุนและแก้ไขกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่ล้าสมัย หรือเป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมยา เช่น เรื่องของสิทธิบัตร การจัดซื้อจัดจ้าง โดยจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนในการเข้าถึงยาที่ดีมีคุณภาพ พร้อมต้องการให้ผลักดันนโยบายส่งเสริม อี-ฟาร์มาซี หรือดิจิทัล ฟาร์มาซี เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการของคนไทยผ่านช่องทางออนไลน์

ปริญญา เปาทอง ที่ปรึกษาสมาคมเภสัชกรอุตสาหการ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาการเข้าสู่สังคมของไทยเริ่มมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น หลังจากโครงสร้างประชากรที่เริ่มเปลี่ยนไป จากสัดส่วนของประชากรที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงมีจำนวนมากกว่าประชากรในวันทำงาน

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า ประชากรไทยที่มีอายุมากกว่า 60 ปีจะเพิ่มขึ้นเป็น 17 ล้านคน จากปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 10 ล้านคน หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 5 แสนคน/ปี เช่น เดียวกับโครงสร้างประชากรผู้สูงวัย ในภูมิภาคอาเซียน ที่คาดว่าจะมีมากกว่า 120 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดกว่า 650 ล้านคน

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มาจากอายุเฉลี่ยของประชากรไทยที่มีอายุสูงขึ้น เฉลี่ยอยู่ที่ 80 ปี จากเดิมที่ 60 ปี ดังนั้นภาครัฐและเอกชนจะต้องตระหนักในการ ส่งเสริมและดูแลผู้สูงวัย เพื่อลดอาการเจ็บไข้หรือป่วย ซึ่งการพัฒนามาตรฐานการผลิตยาในการรองรับผู้สูงวัยถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ทั้งรูปแบบของยาในการรับประทาน หรือการพัฒนายาเพื่อดูแลรักษาต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ

"ตลาดยาในอาเซียนเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับภาครัฐ ที่จะออกนโยบายในการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการให้เกิดการลงทุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มช่องทางและโอกาสทางธุรกิจ" ปริญญา กล่าว

รชฎ ถกลศรี เลขาธิการสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานผลิตยาแผนปัจจุบันกว่า 180 แห่ง ซึ่งสามารถผลิตได้ตามมาตรฐานการผลิตยาของสหภาพยุโรป (PIC/S) ทำให้สินค้าไทยมีความต้องการมากในอาเซียน

ขณะที่นโยบายส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ส่งผลดีให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน เพื่อต่อเติมหรือปรับปรุงโรงงานผลิต ซึ่งในระยะยาวเชื่อว่า มูลค่าการลงทุนของเอกชนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง มีอัตราการผลิตขยายตัวขึ้นตามการเติบโตของอุตสาหกรรมยา ซึ่งคาดว่าสัดส่วนการส่งออกยาของไทยจะเพิ่มขึ้นได้กว่า 20-40% จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 10% ของการผลิตในประเทศ

สวนทางกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศ ที่พบว่าคนไทยส่วนใหญ่มักติดในแบรนด์และเลือกบริโภคยาที่นำเข้าเป็นอันดับ 1 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความลังเลที่จะใช้สินค้าไทย เกิดข้อสงสัยในคุณภาพและมาตรฐานยา ดังนั้นความท้าทายที่สำคัญของผู้ประกอบการไทย คือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแบรนด์ ซึ่งไทยควรใช้ได้เปรียบสามารถสร้างช่องทางการรับรู้ผ่านนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในไทย

รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการ กลุ่มโครงการ ภูมิภาคอาเซียน บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย ประเทศไทย กล่าวว่า จากแนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมยา บริษัทจึงเตรียมจัดงานแสดงสินค้า เทคโนโลยี และการประชุมด้านส่วนผสมยาสำหรับเภสัชอุตสาหกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ "CPhI South East Asia 2019" ครั้งแรกในไทย โดยรวบรวมผู้ประกอบการจาก 26 ประเทศ กว่า 300 บริษัท เพื่อให้เกิดการจับคู่ธุรกิจ ซึ่งจะจัดระหว่างวันที่ 12-14 มี.ค. 2562