posttoday

อสมทรุกบูมไวร์เลสทีวี กสทช.ไฟเขียวทำตลาดบนความถี่2.6กิกะเฮิรตซ์ เสริมธุรกิจเดิม

19 มิถุนายน 2561

อสมท จับมือ 3 ค่าย เอดับบลิวเอ็น กลุ่มทรู และเพลย์เวิร์ค ลุยไวร์เลสบรอดแบนด์ทีวี ครั้งแรกในไทยบนคลื่น 2.6 GHz ช่วยลดเสี่ยงทีวีดิจิทัล

อสมท จับมือ 3 ค่าย เอดับบลิวเอ็น กลุ่มทรู และเพลย์เวิร์ค ลุยไวร์เลสบรอดแบนด์ทีวี ครั้งแรกในไทยบนคลื่น 2.6 GHz ช่วยลดเสี่ยงทีวีดิจิทัล

นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท เปิดเผยว่า หลังจากบริษัทได้ทำการปรับปรุงเทคโนโลยีของโครงข่าย BWA และได้รับเลขรหัส โครงข่าย (MNC) สำหรับเทคโนโลยี BWA และได้รับอนุญาตเกี่ยวกับเครื่องวิทยุคมนาคมต่างๆ ที่จำเป็นและเกี่ยวข้องโดยครบถ้วนจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขณะนี้บริษัทพร้อมแล้วที่จะนำคลื่นความถี่ย่าน 2.6 กิกะเฮิรตซ์ (GHz)มาทำการทดลองเชิงตลาดในรูปแบบไวร์ เลสบรอดแบนด์ทีวี โดยมีบริษัท เพลย์เวิร์ค เป็นผู้ดูแลในเรื่องดังกล่าว

สำหรับบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค หรือเอดับบลิวเอ็น และบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น หรือทียูซี จะเป็นพันธมิตรในด้านของการดูแลการติดตั้งเสาโครงข่าย ซึ่งเบื้องต้นใน 6 เดือนนับจากนี้จะทำการทดลองจำนวน 30 จุด ครอบคลุมพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ของไทยเพื่อทดลองระบบ

"ในส่วนของรูปแบบการทำตลาด ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการหารือร่วมกันกับบริษัท เพลย์เวิร์ค ซึ่งเบื้องต้นบริษัทมองไว้จะให้บริการในรูปแบบของการพัฒนาแพลตฟอร์มขึ้นมา เพื่อรองรับบริการดังกล่าว ส่วนคอนเทนต์ที่จะนำมาใส่ในแพลตฟอร์มจะเริ่มจากการนำคอนเทนต์รายการต่างๆ ของ อสมท มาออกอากาศก่อน ไม่ว่าจะเป็นรายการวาไรตี้ ข่าว หรือกีฬา" นายเขมทัตต์ กล่าว

ทั้งนี้ การทำธุรกิจดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการลดความเสี่ยงจากการทำธุรกิจทีวีดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันเม็ดเงินโฆษณามีอยู่ค่อนข้างจำกัด ในขณะที่ ผู้เล่นมีจำนวนมากขึ้น บริษัทจึงต้องมองหาโอกาสในธุรกิจใหม่เพื่อนำมาต่อยอดรายได้ โดยหลังจากวางแผนการตลาดเรียบร้อย พร้อมเปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้ บริษัทคาดว่าปีแรกของการเปิดให้บริการน่าจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 300 ล้านบาท

นายภาวิช ทองโรจน์ กรรมการบริหาร บริษัท เพลย์เวิร์ค กล่าวว่า ในด้านของแผนการทำตลาดขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ แต่เบื้องต้นเท่าที่วางแผนการตลาดไว้คร่าวๆ จะมีบริการทั้งในรูปแบบการดูคอนเทนต์ฟรี และเสียค่าบริการ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไปตามความเร็วของสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ลูกค้าเลือก โดยในส่วนของอุปกรณ์หลักที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการทำตลาดยังคงเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าที่มีสมาร์ทโฟน ซึ่งปัจจุบันมีสมาร์ทโฟนรองรับบริการไวร์เลส บรอดแบนด์ทีวีได้ประมาณ 80%