posttoday

หกคำถามทรงพลัง

09 มิถุนายน 2561

เคยแนะนำ CEO หกคน ให้ได้ลองใช้กระบวนการหกคำถามในการสร้าง Alignment ของทีม และได้ผลตอบรับ ที่ยอดเยี่ยม

โดย...ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ

ในปัจจุบันหากคุณคือหนึ่งในผู้นำองค์กรหรือผู้บริหารทีม คุณรู้สึกได้ถึงการสื่อสาร การปฏิบัติงานที่ไปในทิศทางเดียวกัน ความคล้องจองกัน (Alignment) ของการปฏิบัติงานของทีมงานมากน้อยเพียงใด และหากต้องการจะปรับปรุง “Alignment” มีวิธีการใดบ้างที่ทำด้วยตนเองได้ทันที 

ดร.มาแชล โกลด์สมิท โค้ชผู้บริหารระดับสูงชื่อดังและผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาภาวะผู้นำ และการโค้ชด้านพฤติกรรมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกอย่างยั่งยืน ให้ความสำคัญกับการใช้คำถามเพื่อการพัฒนาทั้งผู้อื่นและตนเอง เช่น ท่านมักถามลูกค้าบ่อยๆ ว่า ตนเองจะเป็นโค้ชในธุรกิจที่ดีขึ้นได้อย่างไร นอกจากนั้นยังเล่าว่าได้เคยแนะนำ CEO หกคน ให้ได้ลองใช้กระบวนการหกคำถามในการสร้าง Alignment ของทีม และได้ผลตอบรับที่ยอดเยี่ยม เช่น หนึ่งในหก CEO ได้สะท้อนกลับมาว่า หกคำถามนี้ทำให้ใช้เวลาน้อยลงในการโค้ช แต่มีแบบแผนมากขึ้น มีการสื่อสารที่ชัดเจนขึ้น ที่สำคัญผลการประเมิน 360 องศาที่มาจากผู้ใต้บังคับบัญชาดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

เรามาดูถึงกระบวนการในการใช้คำถามการโค้ชหกคำถามกันนะคะ สิ่งแรกคือต้องมีการสนทนากันแบบตัวต่อตัวกับผู้ใต้บังคับบัญชาของเราแต่ละคน โดยทำแบบนี้ได้ทุกๆ 2 หรือ 3 เดือน

คำถามที่หนึ่งคือ  “คุณคิดว่าองค์กรของเรากำลังมุ่งไปในทิศทางใด” เปิดให้มีการสนทนาแลกเปลี่ยนกัน เริ่มจากรับฟังความคิดของผู้ใต้บังคับบัญชาก่อน จากนั้นหัวหน้าก็สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้เช่นกันว่าองค์กรของเรากำลังมุ่งไปในทิศทางใด และอาจถามเพิ่มได้ว่า “แล้วคุณคิดว่าองค์กรของเราควรจะมุ่งไปในทิศทางใด”

คำถามที่สองคือ “แล้วทีมของคุณละ พวกเขากำลังมุ่งไปในทิศทางใด? เพราะเราต้องการความสอดคล้องในทุกระดับ ทั้งภาพใหญ่และภาพเล็ก และทั้งผู้บริหารระดับสูงสู่ระดับกลาง ไปจนถึงพนักงาน 

คำถามที่สาม ก่อนจะถามคำถามนี้ อาจบอกก่อนว่า อะไรที่เราสังเกตเห็นได้ว่าเขาทำได้ดี หรือกำลังไปได้สวย และถามเขาว่า “แล้วคุณละ คุณคิดว่าอะไรในทีมของคุณที่กำลังไปได้อย่างสวยงาม”  “อะไรที่คุณทำได้ดี”  “อะไรที่คุณภาคภูมิใจ” ดร.โกลด์สมิท กล่าวว่า คำถามนี้เป็นคำถามที่ผู้นำไม่ค่อยถามลูกน้องเท่าไรนัก แต่เป็นคำถามที่ทำให้เราได้ข้อมูลดีๆ ที่หากไม่ถามจะไม่ทราบเลย เช่น ทีมงานของเขาเสียสละวันหยุดมาทำงานจนสำเร็จลุล่วงไป เมื่อได้คำตอบแล้ว ถามคำถามนี้ซ้ำได้อีก

คำถามที่สี่ เป็นคำถามเกี่ยวกับการปรับปรุงและพัฒนาต่างๆ ให้ดีขึ้น โดยใช้คำถาม “คุณกำลังพัฒนาทีมของคุณด้านใดอยู่บ้าง” และเมื่อรับฟังแล้วก็สามารถเพิ่มเสริมความเห็นที่เป็นประโยชน์ หรือถามผู้ใต้บังคับบัญชาว่า “หากเขาเป็นโค้ชของตนเอง เขาจะแนะนำตนเองอย่างไร ให้การพัฒนาเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล” คำถามนี้ ดร.โกลด์สมิท กล่าวว่า เป็นคำถามทรงพลังมาก และมีตัวอย่างจาก CEO ท่านหนึ่งที่ได้ใช้คำถามนี้ และรู้สึกตกใจกับสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้เป็นอย่างมาก เริ่มแรก ท่านคิดว่าลูกน้องของท่านจะพูดถึงสิ่งต่อไปนี้ อย่างเช่น “ผมทำงานหนักเกินไป และผมต้องการเวลาหยุดพักผ่อนเพิ่มขึ้น” ท่านตระหนักว่าท่านคิดผิดไปถนัด และกล่าวว่าผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านได้ใช้เวลามากกว่าครึ่งในการอธิบายว่าพวกเขาจะโค้ชตัวพวกเขาเองในแนวทางอย่างไร ความคิดของผู้ใต้บังคับบัญชากลับดูเข้าท่ากว่าแนวคิดของท่านที่คิดจะโค้ชพวกเขาเสียอีก

คำถามที่ห้าคือ “ในฐานะที่เป็นผู้นำ ผมสามารถช่วยคุณได้อย่างไรได้บ้าง เราได้คุยเกี่ยวกับสิ่งที่คุณต้องการจะทำ ทิศทางที่เราจะไป ผมสามารถช่วยให้คุณไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไร”

คำถามที่หก คือ “และคุณมีคำแนะนำหรือแนวคิดอะไรบ้างที่จะให้กับผม เพื่อให้ผมเป็นผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น” คำถามนี้เป็นการย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือและความรับผิดชอบทั้งสองทาง

ท้ายสุด บอกผู้ใต้บังคับบัญชาว่า จะขอกลับมาถามใหม่อีกสองสามเดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม หากมีอะไรที่ไม่ชัดเจน เช่น ลำดับความสำคัญ หรือทิศทางขององค์กร ขอให้เป็นความรับผิดชอบของเขาในการเดินเข้ามาถามให้เกิดความกระจ่างชัด และเมื่อต้องการการสนับสนุนในการโค้ชใดๆ เป็นความรับผิดชอบของเขาด้วยในการเดินเข้ามาขอรับการโค้ช

ดร.โกลด์สมิท กล่าวว่า ยังไม่เคยเห็นกระบวนการนี้ล้มเหลวเลย นอกจากเป็นการช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน เกิดผลิตภาพในการปฏิบัติงาน และความสอดคล้องในการทำงานแล้ว ยังทำให้สัมพันธภาพในการทำงานร่วมกันดีขึ้นอีกด้วย