posttoday

เจาะลึกบิ๊กดาต้า ธุรกิจเริ่มลงทุน

08 มิถุนายน 2561

การเปลี่ยนแปลงของโลกการตลาดดิจิทัล ทำให้องค์กรและแบรนด์ต่างๆ ต้องอัพเดทตัวเองตลอดเวลา จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า บิ๊กดาต้า มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดในยุคนี้

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

การเปลี่ยนแปลงของโลกการตลาดดิจิทัล ทำให้องค์กรและแบรนด์ต่างๆ ต้องอัพเดทตัวเองตลอดเวลา จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า บิ๊กดาต้า มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดในยุคนี้

ธนพล ทรัพย์สมบูรณ์ ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง แอดยิ้ม ผู้ให้บริการด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง โซลูชั่น ในเครือบริษัท วายดีเอ็ม เปิดเผยว่า เทรนด์การลงทุนบิ๊กดาต้าในปีนี้องค์กรใหญ่ในประเทศไทยเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจธนาคาร โทรคมนาคม ธุรกิจค้าปลีก เพราะ ต้องปรับตัวรองรับกับดิจิทัลดิสรัปชั่น ไม่ว่าจะเป็น ฟินเทค อี-คอมเมิร์ซ และเป็นการปรับให้ทันกับพฤติกรรมของ ผู้บริโภคยุคดิจิทัล

ในส่วนของผู้ดำเนินธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี คาดว่า 2 ปีข้างหน้าถึงเริ่มลงทุนกับการนำบิ๊กดาต้ามาทำการวิเคราะห์ข้อมูล และเป็นที่น่าสนใจว่าธุรกิจอุปโภคบริโภคในไทย เป็นกลุ่มที่ตื่นตัวกับการใช้บิ๊กดาต้าค่อนข้างน้อย ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่จะจัดเก็บผ่านข้อมูลการกรอกบนเอกสารจากการซื้อสินค้า ซึ่งไม่มีการจัดเก็บดาต้าที่ดีหรือเป็นระบบมากนัก

สำหรับปัจจัยที่องค์กรต้องให้ความสำคัญกับบิ๊กดาต้า เพราะเป็นเครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูล ทั้งจาก ข้อมูลเว็บไซต์ ข้อมูลจากฐานซีอาร์เอ็ม เพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุงระบบหรือพัฒนาธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาธุรกิจมองบิ๊กดาต้า เป็นแค่การทำซีอาร์เอ็ม โดยไม่ได้เอามาใช้ในการทำตลาดแบบจริงจัง และการจัดเก็บข้อมูลขององค์กรไทยอยู่แค่ในขั้นตอนเริ่มต้นล้าหลังกว่าสิงคโปร์ เกาหลี 2-3 ปี และช้ากว่าอเมริกา 10 ปี

"อุปสรรคขององค์กรไทย ส่วนใหญ่จัดเก็บข้อมูลไม่ถูกต้อง อยู่ในระดับการ จัดเก็บและจำแนก แต่ยังไม่สามารถวิเคราะห์เพื่อต่อยอดทางธุรกิจได้ ขณะนี้มีเพียง 3 กลุ่มธุรกิจ ธนาคาร โทรคมนาคม ค้าปลีก อี-คอมเมิร์ซ ที่พร้อมจะนำ บิ๊กดาต้ามาต่อยอดทางธุรกิจหรือ ดำเนินกลุยทธ์ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง เช่น กลุ่มเซ็นทรัลใช้บัตรเดอะวันการ์ดใน การจัดเก็บดาต้า เพื่อดูพฤติกรรมการ ซื้อสินค้าในเซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท เป็นต้น และนำเสนอโปรโมชั่นที่ โดนใจ" ธนพล กล่าว

ขณะที่ตลาดดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งในปีนี้มีมูลค่า 1.43 หมื่นล้านบาท โต 15% จากเมื่อปีที่ผ่านมา 1.24 หมื่นล้านบาท โดยมาจากการใช้งบดิจิทัลมีเดีย ทั้ง โซเชียลมีเดีย ยูทูบ กูเกิล เพิ่มขึ้น คาดว่า 4-5 ปีข้างหน้า การใช้ดิจิทัลมีเดียจะเพิ่มจาก 10% เป็น 40% ใกล้เคียงกับอเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงขึ้น จึงทำให้แบรนด์ ต้องหันมาให้ความสำคัญกับดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งมากขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทจึงได้เปิดบริการดิจิทัล ดาต้า อะนาไลติกส์ เพื่อให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าในเชิงลึก เนื่องจากความต้องการการวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มขึ้นในตลาด 10 เท่าตัว โดยรายได้ในปีนี้ตั้งเป้าเติบโต 50% หรือ 500 ล้านบาท และตั้งเป้าปี 2563 รายได้แตะ 1,000 ล้านบาท และนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

การวิเคราะห์ข้อมูลที่มีมหาศาลเป็นสิ่งสำคัญ เพราะไม่ว่าธุรกิจจะใช้บิ๊กดาต้าเป็นเครื่องมือทางซีอาร์เอ็ม การพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ท้ายที่สุดคือการทำตลาดได้แม่นยำและปิดยอดขาย แบรนด์ใดปรับตัวไม่ทันกับเทคโนโลยี อาจถึงขั้นล้มหายตายจากตลาด เพราะไม่สามารถแข่งขันได้