posttoday

เหตุผลที่คนมองหาโค้ช

26 พฤษภาคม 2561

โดย...ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ โค้ชผู้บริหารที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์โค้ชนานาชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอคคอมแอนด์อิมเมจ อินเตอร์เนชั่นแนล

โดย...ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ โค้ชผู้บริหารที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์โค้ชนานาชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอคคอมแอนด์อิมเมจ อินเตอร์เนชั่นแนล

ในขณะที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนามากขึ้น แต่คนก็ยังมองหารูปแบบการพัฒนาด้วยการโค้ชอย่างต่อเนื่อง จากการศึกษาของสหพันธ์โค้ชนานาชาติ (2016 Global Coaching Study) ตลาดการโค้ชจากทั่วโลกในปี 2015 นำมาซึ่งรายได้อยู่ที่ 2.356 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าในปี 2011 ประมาณ 19%

ในด้านความสนใจต่อการโค้ช มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน หากดูจากจำนวนสมาชิกของสหพันธ์โค้ชนานาชาติที่มีสูงขึ้นทุกปี ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา สหพันธ์โค้ชนานาชาติมีสมาชิกเพิ่มขึ้นประมาณ 1,300 คน ทุกๆ ปี เริ่มจากกลุ่มโค้ชจากไม่กี่ประเทศ มาจนปัจจุบันมีมากถึง 138 ประเทศ มีสมาชิกทั้งหมด 3 หมื่นกว่าคน ประมาณ 49% อยู่ในอเมริกาเหนือ 23% ในยุโรปตะวันตก และ 8% ในเอเชีย

สำหรับในเอเชีย สมาชิกมาจากประเทศอินเดียมีจำนวนสูงสุด ตามมาด้วยประเทศจีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง ประเทศไทย ตามลำดับ ปัจจุบันมีโค้ชในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์โค้ชนานาชาติอยู่ที่ประมาณ 133 คน ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นทุกปี

การโค้ชแบบตัวต่อตัวในอดีต มักจัดให้กับผู้บริหารระดับสูง แต่ในปัจจุบันมีแนวโน้มขยายโอกาสไปถึงกลุ่มต่างๆ ในองค์กร เมื่อดูที่ระดับจัดการของลูกค้าจากในองค์กรที่ใช้การโค้ชมากที่สุด จากการศึกษาล่าสุดของสหพันธ์โค้ชนานาชาติ พบว่าระดับผู้จัดการเป็นกลุ่มที่ใช้มากที่สุด รองลงมาคือผู้บริหารระดับสูง ตามด้วยกลุ่มที่เป็นเจ้าของธุรกิจ

ในด้านการโค้ชภาวะผู้นำ มีลูกค้าผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ในด้านการโค้ชผู้บริหารระดับสูงมีลูกค้าเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และสำหรับธุรกิจขนาดย่อม ลูกค้าที่เป็นผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชาย

จากประสบการณ์ของดิฉัน เหตุผลที่คนมองหาโค้ชมีหลากหลาย เช่น อยากได้รับการสนับสนุนระหว่างที่กำลังเปลี่ยนแปลง อยากพัฒนาภาวะผู้นำ ต้องการบริหารตนเองและเวลา ต้องการบริหารอารมณ์ และเพิ่มสมรรถนะในด้านต่างๆ เช่น การสื่อสาร การโน้มน้าวคน และอื่นๆ ซึ่งค่อนข้างตรงกับรายงานการศึกษาระดับสากลของสหพันธ์โค้ชนานาชาติ (ICF's 2017 Coaching Awareness Study) ที่ได้พบว่าเหตุผล 5 อันดับแรกที่คนใช้การโค้ชเข้ามาช่วยคือ

1.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของทีม
2.เพื่อปรับปรุงทักษะการสื่อสาร
3.เพื่อเพิ่มผลิตภาพ (Productivity)
4.เพื่อปรับปรุงธุรกิจและกลยุทธ์การจัดการ
5.เพื่อขยายโอกาสในอาชีพ

นอกจากเหตุผลทางธุรกิจแล้ว ดิฉันมองว่าเหตุผลที่คนใช้การโค้ช เพราะต้องการความต่อเนื่องในการพัฒนา และกระบวนการโค้ชของแทบทุกๆ สถาบันจะเน้นวิธีการดังต่อไปนี้

-มีโค้ชชี่ (ผู้ได้รับการโค้ช) เป็นศูนย์กลาง โดยโค้ชวางตัวเป็นคู่คิด
-เน้นการลงมือปฏิบัติและใช้เวลากับการลงมือปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี
-เครื่องมือต่างๆ ในการโค้ช จะใช้ก็ต่อเมื่อโค้ชชี่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่มีการบังคับให้ใช้
-สนับสนุนการทดลอง การลงมือปฏิบัติทันที ด้วยตัวของโค้ชชี่เอง
-ได้รับ Feedback จากโค้ชอย่างต่อเนื่อง
-โค้ชชี่มีอิสระในการเลือกหัวข้อที่สนทนา โดยเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็ยังเดินหน้าต่อไปได้

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา องค์กรที่ตระหนักในผลดีของการโค้ชต่างเน้นการสร้างการโค้ชให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร (Coaching Culture) รายงานการศึกษาด้านวัฒนธรรมการโค้ชของสหพันธ์โค้ชนานาชาติ ยืนยันถึงความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมการโค้ชกับความผูกพันของบุคลากรที่มีต่อองค์กร และยังระบุถึงผลงานขององค์กรที่มีวัฒนธรรมการโค้ชที่ชัดเจนแล้ว ว่ามีผลงานดีกว่าองค์กรธุรกิจใกล้เคียงกันที่ยังไม่มีวัฒนธรรมการโค้ช

สำหรับเหตุผลที่คนล้มเลิกการโค้ชมีอะไรบ้าง ดร.มาแชล โกลด์สมิท กูรูด้านการโค้ชระดับโลก ได้เคยกล่าวถึงเหตุผลที่คนล้มเลิกกลางคัน ขอยกตัวอย่างมา 3 ข้อ คือ หนึ่ง เป้าหมายในการโค้ช ไม่ได้มาจากตัวโค้ชชี่เอง ทำให้สงสัยในประโยชน์ที่ตนได้รับ สอง เป้าหมายไกลเกินฝัน และใช้เวลานานเหลือเกิน ข้อนี้มักมาจากการที่โค้ชไม่ได้อธิบายกลไกของการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่ต้องใช้เวลา เช่น การเปลี่ยนพฤติกรรม สาม มีเรื่องสำคัญอื่นๆ เข้ามาแทรกระหว่างทาง ซึ่งข้อนี้โค้ชที่เชี่ยวชาญจะช่วยโค้ชชี่ รับมือกับเรื่องเหล่านี้ล่วงหน้า เป็นต้น

ขอบคุณข้อมูลจากสหพันธ์โค้ชนานาชาติ (https://coachfederation.org/research)