posttoday

บุญยง ตันสกุล ภารกิจดันเซ็นฯ หมื่นล.

24 พฤษภาคม 2561

"เป้าหมายของเซ็นฯ คือ เป็นผู้นำในธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น ธุรกิจร้าน อาหารแฟรนไชส์ ทั้งในประเทศและ ต่างประเทศ นั่นคือ การลงทุนต่ำ และคืนทุนเร็ว"

โดย...วันเพ็ญ พุทธานนท์

จากภารกิจฟื้นฟู บริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย ผู้ดำเนินธุรกิจเงินผ่อน มาสู่อาณาจักรร้านอาหารทั้งไทยและญี่ปุ่นอย่าง บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จึงถือเป็นความท้าทายใหม่ของ "บุญยง ตันสกุล" ที่เข้ามารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยจะมีผลตั้งแต่ วันที่ 1 มิ.ย. 2561 เป็นต้นไป

บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป เปิดเผยว่า ความท้าทายแรกคือ การ ขับเคลื่อนบริษัทไปสู่เป้าหมายรายได้ 1 หมื่นล้านบาทภายใน 5 ปี (2561-2565) จากปัจจุบันที่มีรายได้อยู่ที่กว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งนั่นหมายความว่า บริษัทต้องเติบโตต่อเนื่องปีละไม่ต่ำกว่า 25% จึงจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าเป้าหมายนี้มีความเป็นไปได้ ด้วยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของบริษัทดำเนินธุรกิจมานานถึง 27 ปี มีบุคลากรที่เก่ง และมีแบรนด์ร้านอาหารในเครือถึง 13 แบรนด์ ซึ่งยังมีโอกาสขยับขยายได้อีกมาก โดยปัจจุบันร้านอาหารในเครือเซ็นฯ มีสาขารวม 240 สาขา แบ่งเป็นสาขาที่บริษัทดูแลเอง 100 สาขา และสาขาแฟรนไชส์ 140 สาขา

ทั้งนี้ การเติบโตของธุรกิจจะมาจากการขยายสาขาแบรนด์เดิมที่มีอยู่ ควบคู่กับการเพิ่มแบรนด์ร้านอาหารใหม่ๆ รวมถึงธุรกิจใหม่ ซึ่งจะมีทั้งการร่วมทุนและการซื้อกิจการ เพื่อให้ภายใน 5 ปี จะมีจำนวนสาขารวม 700 สาขา แบ่งเป็นสาขาที่บริษัทบริหารเอง 200 สาขา และสาขาแฟรนไชส์ 500 สาขา ซึ่งในจำนวนนี้จะเป็นสาขาแฟรนไชส์ในต่างประเทศประมาณ 100 สาขา

จากเป้าหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การเติบโตและรายได้ของธุรกิจจะมา ทั้งจากธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่ ซึ่งที่มาของรายได้นั้น บุญยง กล่าวว่า หลักๆ จะมาจากการขยายแฟรนไชส์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการรุกธุรกิจสู่ช่องทางค้าปลีก ด้วยการผลิตสินค้าแบรนด์ตำมั่วเพื่อวางจำหน่ายในร้านค้าปลีกด้วย

ขณะที่แบรนด์เรือธงสำหรับบุกเบิกธุรกิจแฟรนไชส์นั้น จะใช้แบรนด์ตำมั่ว เป็นแฟล็กชิปและโมเดลต้นแบบ เนื่อง จากมีการวางระบบและเทคโนโลยีไว้แล้ว โดยแบรนด์ตำมั่วจะเป็นการขยายแฟรนไชส์ในฝั่งของธุรกิจร้านอาหารไทย ส่วนฝั่งธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น จะใช้แบรนด์ มุฉะ (Musha) ที่บริษัทซื้อกิจการมาเป็นหัวหอกหลัก

"โอกาสขยายธุรกิจยังมีอีกมาก หนึ่งในนั้นคือ การจัดทำโครงการไทยนิยมของรัฐบาลที่จะสนับสนุนการสร้างอาชีพคนไทยในทุกจังหวัด ซึ่งทั้งตำมั่วและ มุฉะสามารถตอบโจทย์ได้ด้วยการขายแฟรนไชส์ให้ผู้สนใจ โดยอยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนารูปแบบร้านให้ลงทุนน้อยลงและคืนทุนได้เร็ว" บุญยง กล่าว

นอกจากนี้ ยังได้วาง 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1.การขยายธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่ต่อเนื่อง 2.การวางเป้าหมายเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นที่ดีที่สุดในใจผู้บริโภค 3.เน้นการพัฒนาบุคลากร และ 4.ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีโดยพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ๆ สำหรับพัฒนาร้านอาหาร ตลอดจนระบบซัพพลายเชนและระบบหลังบ้าน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น การขยาย แคตเทอริ่งและเดลิเวอรี่ เป็นต้น

"เป้าหมายของเซ็นฯ คือ เป็นผู้นำในธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น ธุรกิจร้าน อาหารแฟรนไชส์ ทั้งในประเทศและ ต่างประเทศ นั่นคือ การลงทุนต่ำ และคืนทุนเร็ว" บุญยง กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คาดว่าจะยื่นไฟลิ่งได้ภายในปีนี้ เพื่อนำเงินที่ได้ไปขยายธุรกิจตามแผนงานที่วางไว้ ทั้งการปรับปรุงร้านเดิม ขยายร้านใหม่ที่คาดว่าจะใช้เงินในส่วนนี้ประมาณ 300-500 ล้านบาท รวมถึงการลงทุนนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน