posttoday

"จิรัฐ บวรวัฒนะ" ปั้นธุรกิจ "ไอดอล" ผงาดตลาดไทย

13 พฤษภาคม 2561

เมื่อกลางปี60 "จิรัฐ บวรวัฒนะ" ประกาศว่าจะทำธุรกิจไอดอลสไตล์ญี่ปุ่น ท่ามกลางคำถามของหลายคนว่าจะสำเร็จในไทยได้อย่างไร วันนี้ "BNK48" คือคำตอบของคำถามเหล่านั้น และต่อไปนี้คือเรื่องราวอันน่าสนใจตลอดเส้นทางธุรกิจ

เมื่อกลางปี60 "จิรัฐ บวรวัฒนะ" ประกาศว่าจะทำธุรกิจไอดอลสไตล์ญี่ปุ่น ท่ามกลางคำถามของหลายคนว่าจะสำเร็จในไทยได้อย่างไร วันนี้ "BNK48" คือคำตอบของคำถามเหล่านั้น และต่อไปนี้คือเรื่องราวอันน่าสนใจตลอดเส้นทางธุรกิจ

*******************************

โดย...จะเรียม สำรวจ

ย้อนกลับไปเมื่อกลางปี 2560 ที่บริษัท โรส อาร์ทิสท์ แมเนจเม้นท์ ออกมาประกาศว่าจะทำธุรกิจไอดอล สไตล์ญี่ปุ่น ช่วงเวลาดังกล่าวหลายคนมีแต่ตั้งคำถามว่ามันคือธุรกิจอะไร และมันจะประสบความสำเร็จได้อย่างไรในประเทศไทย

เนื่องจากศิลปินที่ปั้นขึ้นมาเป็นไอดอลต้องอยู่ในกรอบและกฎกติกาอย่างเคร่งครัดเหมือนกับธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมาจากวงต้นแบบจากประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกทุกคนต้องย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ห้ามถูกเนื้อตัว หวงจับมือ ไม่เซลฟี่แฟนคลับ เคร่งครัดการใช้สื่อโซเชียล ไม่เคยทำงานเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง หรือยุ่งเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารใดๆ ทั้งสิ้น และงานต้องมาก่อน ซึ่งกฎเหล็กดังกล่าวตรงข้ามกับพฤติกรรมกับแฟนคลับและศิลปินดาราไทยอย่างสิ้นเชิง

จากความแตกต่างที่หลายคนยังไม่เข้าใจในช่วงแรก แต่ จิรัฐ บวรวัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรส อาร์ทิสท์ แมเนจเม้นท์ เจ้าของธุรกิจไอดอลสไตล์ญี่ปุ่น ภายใต้ชื่อวง BNK48 ก็พิสูจน์ให้เห็นว่ารูปแบบธุรกิจดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย จากจุดเริ่มต้นที่ไม่มีใครรู้จัก มีโอตะ (แฟนคลับ) เข้ามาร่วมให้กำลังใจสาวๆ วง BNK48 ไม่กี่คนในช่วงแรก ตอนนี้กลายเป็นวง BNK48 ไปที่ไหน ตรงนั้นต้องห้างแตก เพราะเหล่าบรรดาโอตะโดยเฉพาะกลุ่มผู้ชายตามไปให้กำลังใจสาวๆ กันอย่างคึกคัก

จิรัฐ กล่าวว่า เหตุผลที่ทำให้ผมตัดสินใจมาทำธุรกิจไอดอลสไตล์ญี่ปุ่น เพราะผมและภรรยา (โรส-อรพรรณ มนต์พิชิต บวรวัฒนะ รองประธาน บริษัท โรส มีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ทำธุรกิจเกี่ยวกับญี่ปุ่นมาโดยตลอด และธุรกิจที่หลายคนรู้จักเป็นอย่างดี คือ ผู้ดูแลลิขสิทธิ์การ์ตูนชั้นนำของญี่ปุ่น แต่หลังจากธุรกิจการทำลิขสิทธิ์การ์ตูนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไป ภายหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและธุรกิจทีวีดิจิทัล ผมจึงต้องมองหาธุรกิจใหม่และก็ได้ไปพบกับธุรกิจไอดอลซึ่งเป็นที่นิยมมากในประเทศญี่ปุ่น จึงมีความคิดที่จะนำเข้ามาทำในประเทศไทย

“การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของโลกธุรกิจ ทำให้การทำการ์ตูนอย่างเดียวคงไม่พอ ผมเลยจะเอาแฟรนไชส์เกิร์ลกรุ๊ปญี่ปุ่นอย่างวง “AKB48” มาทำ ด้วยความที่เราทำงานกับคนญี่ปุ่นมาโดยตลอด และคนไทยก็มีความชื่นชอบในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ผมเลยเห็นโอกาสซื้อแฟรนไชส์ธุรกิจดังกล่าวเข้ามาทำในประเทศไทย เพราะหลังจากเดินทางไปดูงานของธุรกิจดังกล่าวในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจาการ์ตาหรือเซี่ยงไฮ้ พบว่าประสบความสำเร็จมาก ผมจึงมั่นใจว่าถ้านำธุรกิจดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยต้องประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน”

หลังจากตัดสินใจแน่วแน่ จิรัฐ ก็ได้ทำการก่อตั้ง บริษัท โรส อาร์ทิสท์ แมเนจเม้นท์ (อาร์เอเอ็ม) ขึ้นมา เพื่อทำธุรกิจไอดอลในประเทศไทย ด้วยการร่วมก่อตั้ง บริษัท บีเอ็นเค โฟร์ตี้เอท ออฟฟิศ โดย อาร์เอเอ็ม ถือหุ้น 90% และบริษัท เอเคเอส (AKS) ประเทศญี่ปุ่น ถือหุ้น 10% เพื่อพัฒนาโปรเจกต์เกิร์ลกรุ๊ป BNK48 ในไทย

เดือน มิ.ย. 2560 วง BNK48 ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทยกับซิงเกิ้ลเปิดตัวเพลง "aitakatta" แต่เพลงที่ได้รับความนิยมและสร้างชื่อเสียงเห็นจะเป็น “Koisuru Fortune Cookie” หรือ “คุกกี้เสี่ยงทาย” ซึ่งเป็นซิงเกิลที่สอง จากความนิยมที่เริ่มต้นจากกลุ่มเล็กๆ ปัจจุบันคงไม่มีใครไม่รู้จักเพลง “คุกกี้เสี่ยงทาย” ที่มาพร้อมท่าเต้น “ข้าวปั้น” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง และจากความนิยมที่เริ่มแพร่หลายในช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา ถือเป็นการแจ้งเกิดกระแส “ไอดอล เกิร์ล กรุ๊ป” ในประเทศไทย

ความสำเร็จที่ได้รับดังกล่าวสัมผัสได้จากปัจจุบันสาวๆ วง BNK48 เริ่มก้าวเป็นพรีเซนเตอร์ในสินค้าหลายตัว และเริ่มมีการออกงานอีเวนต์มากขึ้น ซึ่งทุกงานที่สาวๆ ไปจะมีบรรดาโอตะทั้งหนุ่มน้อย หนุ่มใหญ่ รวมไปถึงบรรดาแม่ยกไปคอยให้กำลังใจสาวๆ วง BNK48 กันอย่างเนืองแน่น เพราะติดใจในความน่ารักสมวัยของสาวๆวง BNK48

"จิรัฐ บวรวัฒนะ" ปั้นธุรกิจ "ไอดอล" ผงาดตลาดไทย

จากนิชสู่แมสมาร์เก็ต

หลังประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีกับการปั้นเกิร์ลกรุ๊ปวง BNK48 จนประสบความสำเร็จ ทำให้ จิรัฐ บวรวัฒนะ มีแผนที่จะปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจไอดอลด้วยการขยายฐานกลุ่มเป้าหมายไปยังกลุ่มแมสมากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ทำการตลาดแบบนิชมาร์เก็ต

สำหรับกลยุทธ์ที่จิรัฐจะเริ่มนำมาใช้เพื่อขยายฐานกลุ่มเป้าหมายไปยังกลุ่มแมส คือ การจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกันพัฒนาคอนเทนต์และสินค้าต่างๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เช่น การรับงานพรีเซนเตอร์ การทำธุรกิจจำหน่ายสินค้าที่ระลึก อุปกรณ์เครื่องเขียน และการขายไลเซนส์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะหารายได้เสริมจากการจัดคอนเสิร์ตและการเปิดเธียเตอร์เป็นของตัวเอง ภายหลังจากใช้งบลงทุน 50 ล้านบาทเช่าพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ของศูนย์การค้าเดอะมอลล์ บางกะปิ เพื่อนำมาพัฒนาเป็นบีเอ็นเค เธียเตอร์ และคาเฟ่ เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการจัดคอนเสิร์ตและซ้อมการแสดง ซึ่งเบื้องต้นจิรัฐได้วางแผนการจัดแสดงคอนเสิร์ตในเธียเตอร์ดังกล่าวไว้สัปดาห์ละประมาณ 3 รอบ

ในส่วนของตัวเธียเตอร์ที่เดอะมอลล์ บางกะปิ จะมีที่นั่งให้บรรดาโอตะ (แฟนคลับ) เข้ามาชมคอนเสิร์ตประมาณ 350 ที่นั่ง ซึ่งหลังจากเริ่มขายบัตรคอนเสิร์ตล่วงหน้าไปในช่วงที่ผ่านมา ขณะนี้มีผู้สนใจเข้ามาจองบัตรคอนเสิร์ตแล้วประมาณ 1.5 หมื่นที่นั่ง

แม้ว่าจิรัฐจะปรับรูปแบบการทำตลาดมาเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายแมสมากขึ้น เพื่อให้ทุกคนได้รู้จักและสัมผัสกับสาวๆ วง BNK48 ได้ง่ายขึ้น แต่ในส่วนของกลุ่มเป้าหมายหลักยังคงเน้นไปที่กลุ่มคนอายุ 12-24 ปี ซึ่งจากเปิดตัววง BNK48 ไป พบว่ากลุ่มเป้าหมายที่ให้ความสนใจเข้ามาเป็นโอตะของสาวๆ วง BNK48 จะเป็นกลุ่มผู้ชาย 60% และกลุ่มผู้หญิง 40%

นอกจากจะปรับกลยุทธ์การทำตลาดให้เป็นแมสมากขึ้น ด้วยการให้สาวๆ วง BNK48 เป็นพรีเซนเตอร์ให้กับสินค้าต่างๆ และจัดคอนเสิร์ตในเธียเตอร์แล้ว การทำรายการทีวีก็ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จิรัฐให้ความสนใจที่จะเข้าไปทำเพื่อหารายได้เสริมและเพื่อต่อยอดให้ธุรกิจประสบความสำเร็จมากขึ้น ในปีนี้จิรัฐก็มีแผนที่จะเปิดรับสมัครสาวๆ วัยทีนเข้ามาร่วมวง BNK48 รุ่นที่ 2 อีก 30 คน กฎกติกาการปฏิบัติตัว จิรัฐ บอกว่า ยังคงเหมือนเดิม เพราะต้องการให้สาวๆ วางตัวให้เหมาะสม เพื่อให้สมกับเป็นไอดอลและเป็นคนดีของสังคม