posttoday

ค้าปลีกไทยสวนทิศโลก เพิ่มเกือบ4แสนตร.ม.ปีนี้

10 พฤษภาคม 2561

ค้าปลีกหลายประเทศ ทั่วโลกกำลังประสบปัญหา จากผลกระทบจากช็อปปิ้งออนไลน์ พฤติกรรมผู้ซื้อที่เปลี่ยนไป แต่ในไทยกลับยังคงขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ค้าปลีกหลายประเทศ ทั่วโลกกำลังประสบปัญหา จากผลกระทบจากช็อปปิ้งออนไลน์ พฤติกรรมผู้ซื้อที่เปลี่ยนไป แต่ในไทยกลับยังคงขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกในหลายประเทศ ทั่วโลกกำลังประสบปัญหา เนื่องจากผลกระทบจากช็อปปิ้งออนไลน์ และพฤติกรรมผู้ซื้อที่เปลี่ยนไป เห็นได้จากไฮเปอร์มาร์เก็ตและศูนย์การค้าขนาดใหญ่หลายแห่งในหลายประเทศต้อง ปิดให้บริการ แต่ธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยกลับยังคงขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เห็นได้จากพื้นที่ค้าปลีกที่ เปิดให้บริการใหม่ในไตรมาสแรกปี 2561 อยู่ที่ประมาณ 42,590 ตารางเมตร (ตร.ม.) และอีกประมาณ 348,360  ตร.ม. มีกำหนดแล้วเสร็จในช่วงที่เหลือของปี 2561 หรือรวมทั้งปี 2561 คาดว่าจะมีพื้นที่ค้าปลีกในในกรุงเทพ มหานครและพื้นที่โดยรอบเพิ่มขึ้นเกือบ 4 แสน ตร.ม.

สุรเชษฐ กองชีพ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยตลาด ไรส์แลนด์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ปัจจุบันพื้นที่ค้าปลีกประมาณ 43% ของทั้งประเทศอยู่ในพื้นที่ กรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบ ซึ่งหากพิจารณาถึงพื้นที่ค้าปลีกโดยรวมทั้ง หมดในกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบ ณ ไตรมาสแรก ปี 2561 จะอยู่ที่ประมาณ 7.973 ล้าน ตร.ม.

ขณะที่โครงการพื้นที่ค้าปลีกใหม่ส่วนใหญ่ที่เปิดให้บริการในปี 2560 เป็นศูนย์การค้า โดยมีคอมมูนิตี้มอลล์ตามมาเป็นอันดับที่ 2 แต่มีการขยายตัวที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ และคอมมูนิตี้มอลล์อยู่ในช่วงชะลอตัวตั้งแต่ปี 2560 อีกทั้งคาดว่าจะอยู่ในอัตรา ลดลงต่อเนื่องต่อไปในอนาคต

ในจำนวนพื้นที่ค้าปลีกทั้งหมดนั้น พบว่า ศูนย์การค้ามีสัดส่วนมากที่สุด ในตลาดที่ประมาณ 59% หรือขนาดพื้นที่รวม 4.706 ล้าน ตร.ม. คอมมูนิตี้มอลล์เป็นลำดับที่ 2 ด้วยสัดส่วน 16% ขณะที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตลำดับที่ 3 ด้วยสัดส่วน 10% ส่วนที่เหลือเป็นค้าปลีกประเภทอื่นๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์

เป็นที่น่าสังเกตว่า คอมมูนิตี้มอลล์มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจากพื้นที่ประมาณ 3 แสน ตร.ม. ในปี 2550 ขึ้นมาถึง 1.251 ล้าน ตร.ม. ในไตรมาสแรกปี 2561

ดังนั้น อัตราการขยายตัวต่อปีของคอมมูนิตี้มอลล์อยู่ที่ประมาณ 28.9% สูงที่สุดเมื่อเทียบกับพื้นที่ค้าปลีกประเภทอื่นๆ แต่คอมมูนิตี้มอลล์มีการขยายตัวลดลงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีหลายโครงการที่ไม่ประสบความสำเร็จ คอมมูนิตี้มอลล์จึงอยู่ในช่วงขาลงเมื่อเทียบกับอดีต

ด้านค่าเช่าเฉลี่ยของพื้นที่ค้าปลีกในทำเลต่างๆ ในกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบ ณ ไตรมาสแรกปี 2561 ยังคงใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยค่าเช่าเฉลี่ยในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในสูงที่สุดในตลาดพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบ เพราะมีศูนย์การค้าหรูและมีขนาดใหญ่อยู่หลายโครงการ และบางโครงการอยู่ในทำเลตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดิน นอกจากนี้บางโครงการสามารถเชื่อมต่อโดยตรงกับสถานีรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดิน

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่หลายโครงการเปิดให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และคาดว่าตลาดพื้นที่ค้าปลีกอาจจะยังมีการขยายตัวต่อไปใน อนาคต แต่เป็นอัตราการขยายตัวที่ลดลงไม่ได้มากมายเหมือนช่วงที่ผ่านมา