posttoday

บรรยากาศการทำงาน ที่เป็นมิตรกับสมอง

31 มีนาคม 2561

“ที่ทำงานที่เป็นมิตรได้ทั้งพลังความคิดและได้ทั้งใจ ที่ทำงานที่เป็นภัยนอกจากไม่ได้ใจแล้วยังได้งานเพียงน้อยนิด”

โดย...ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ

การศึกษาทางชีววิทยาเกี่ยวกับสมองของมนุษย์ ระบุไว้ว่าสมองคนเรามีน้ำหนักประมาณ 1.2-1.5 กิโลกรัม ซึ่งเป็นเพียงสองเปอร์เซ็นต์ของร่างกาย แต่สมองใช้พลังงานมากถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมากกว่า และสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อสมอง (Brain-friendly Workplace) เพราะอยากให้บุคลากรในทุกระดับมาทำงานด้วยความรู้สึกวางใจ มีความสุข มีความมั่นใจในการปฏิบัติงาน และได้ใช้ความสามารถและสมองที่ทรงพลังในการผลิตผลงานดีๆ ให้ทีมของตนและองค์กร

ในการทำงาน บุคลากรมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลหลากหลาย ทั้งเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ลูกค้า ดังนั้นถึงแม้ที่ทำงานจะได้รับการจัดระบบระเบียบต่างๆ ให้เป็นรูปแบบธุรกิจก็ตาม แต่สมองก็ยังทำงานในเชิงสังคม และเมื่อบรรยากาศในการทำงานไม่เอื้ออำนวยต่อความต้องการของสมองในเชิงสังคม ประสิทธิภาพด้านความคิดและความรู้สึกเชิงบวกก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย

หากอิงจากการศึกษาด้านประสาทวิทยาศาสตร์ มีการอธิบายเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจ ระบบลิมบิค (Limbic System) เป็นส่วนของสมองซึ่งนอกจากจะเป็นศูนย์กลางของอารมณ์แล้ว ยังทำหน้าที่เกี่ยวกับการเรียนรู้และความทรงจำในทุกๆ ปฏิสัมพันธ์

ส่วนหนึ่งของระบบลิมบิคที่มีรูปร่างคล้ายเมล็ดอัลมอนด์ เรียกว่า อมิกดาลา (Amygdala) ทำหน้าที่ตัดสินสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ออกมาด้านใดด้านหนึ่ง นั่นคือเป็นผลดี หรือเป็นเภทภัย และเมื่อสถานการณ์ตอกย้ำว่าเป็นภัย จะบันทึกความจำและประสบการณ์นั้นไว้ ส่งผลให้คอยระแวดระวัง รวมถึงระแวงต่อเหตุการณ์ที่คล้ายหรือใกล้เคียงกันในเวลาต่อมา การโต้ตอบของสมองต่อสถานการณ์นั้นๆ ในเวลาต่อมา มักจะโต้ตอบแบบทันควัน ไม่ทันได้ไตร่ตรองอย่างดีก่อนว่าเป็นคนเดียวกัน หรือสถานการณ์เดียวกันหรือไม่ ซึ่งการโต้ตอบมักจะถูกจำกัดอยู่สามแบบคือ

ลุยเลย หลบหลีก หรือนิ่งอึ้ง ทำอะไรไม่ถูก

หากจะอธิบายแบบเห็นภาพชัดๆ ขอยกตัวอย่างจากในละครยอดฮิตขณะนี้ คือเรื่องบุพเพสันนิวาส แม่นางการะเกดคนเดิมได้เคยทำร้าย ดุว่า ตบตี ผู้รับใช้ในเรือน ป้าปริกคือคนที่ถูกทำร้ายมากหน่อย ถึงแม้แม่หญิงการะเกดจะเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม ป้าปริกจะพูดเสมอว่า ก็ยังไม่ไว้วางใจอยู่ดี และคอยพูดจาโต้เถียง เสียดสีแม่การะเกดตลอดเวลา ส่วนผู้รับใช้คนอื่นๆ ไม่กล้าพอที่จะลุยเหมือนป้าปริก ก็ใช้วิธีหลบหน้า หลบตาแทน ทั้งที่นิสัยและการปฏิบัติต่อทุกคนในเรือนของแม่นางการะเกดเปลี่ยนไปแล้ว

ประสบการณ์เชิงสังคมที่สมองมักตัดสินว่าเป็นภัยมากกว่าเป็นรางวัล เช่น เกิดความคลุมเครือไม่ชัดเจน การปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรม สั่งควบคุมโดยไม่ให้ทางเลือก การถูกเปรียบเทียบแบบไม่มีที่มาที่ไป การสื่อสารแบบไม่ให้เกียรติ เช่น ดุด่า คำพูดดูถูก หรือความรู้สึกไม่ปลอดภัยที่อีกฝ่ายใช้อารมณ์โกรธ เสียดสี กระแทกกระทั้นในการสนทนา 

สมองส่วนที่เรียกว่า สมองส่วนเปลือกหน้า (Prefrontal Cortex) เป็นส่วนที่สำคัญต่อความสามารถในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ การแก้ไขปัญหา การไตร่ตรอง การวิเคราะห์สัมพันธภาพ และใคร่ครวญเป็นเหตุเป็นผลในสิ่งที่จะตามมา หากคนเราได้ใช้สมองส่วนนี้อย่างเต็มที่ในที่ทำงาน ก็จะทำให้ความคิดโลดแล่น มองปัญหาเป็นโอกาส จัดการกับความสัมพันธ์ที่ยุ่งยากได้โดยไม่ใช้อารมณ์ อย่างไรก็ตามสมองส่วนนี้ถูกสกัดกั้นการทำงานได้ เมื่ออมิกดาลา (Amygdala) อยู่ในภาวะระแวง หรือตีความสถานการณ์ว่าเป็นภัย ในทางตรงกันข้าม ถ้าตัดสินว่าเป็นรางวัล สมองส่วนเปลือกหน้าก็จะไม่โดนรบกวน

หลากหลายองค์กรจัดสรรให้มียิมสำหรับออกกำลังกาย ตกแต่งสถานที่ทันสมัย สวยงาม มีโต๊ะทำงานและห้องประชุมหลากหลายรูปแบบให้พนักงานเลือกใช้ได้ แต่ทำไมยังไม่สามารถทำให้พนักงานผูกพันกับงานได้ หรือสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรกับสมองได้อย่างเต็มที่

เมื่อหันมาดูการสื่อสารของหัวหน้ากับลูกน้อง เช่น หัวหน้าใช้คำพูดบั่นทอนจิตใจ ใช้อารมณ์กับลูกน้อง นอกจากอาจจะส่งผลให้สมองของลูกน้องตื้อตัน คิดอะไรไม่ออกแล้ว อันที่จริงก็ไม่ส่งผลดีต่อหัวหน้าด้วย เพราะเมื่องานไม่เดิน หรือไม่ทันกาล หัวหน้าก็ต้องรับภาระมาทำเองอยู่ดี และเมื่อแสดงความโกรธใส่ลูกน้องบ่อยๆ ลูกน้องหลบเลี่ยงไม่อยากให้ Feedback กับหัวหน้า บ้างก็หาเหตุผลในการลาออกไป หัวหน้าก็ไม่เกิดการพัฒนาใดๆ และต้องเหน็ดเหนื่อยกับการสอนคนใหม่ตลอดเวลา

สถานที่ทำงานที่เป็นมิตรต่อสมอง ต่อความคิดสร้างสรรค์ เมื่อสิ่งแวดล้อมได้รับการจัดสรรให้น่าอยู่แล้วก็ลืมไม่ได้ว่าต้องพึ่งการปฏิบัติของหัวหน้าต่อลูกน้องด้วย เช่น การสื่อสารความคาดหวังให้ข้อมูลการทำงานที่ชัดเจน การให้ Feedback ที่ตรงไปตรงมาแต่ให้กำลังใจ การสื่อสารอย่างให้เกียรติ และให้มีส่วนร่วม มีอิสระในการร่วมคิดร่วมทำบ้าง

“ที่ทำงานที่เป็นมิตรได้ทั้งพลังความคิดและได้ทั้งใจ ที่ทำงานที่เป็นภัยนอกจากไม่ได้ใจแล้วยังได้งานเพียงน้อยนิด”