posttoday

ภาวะผู้นำของสตรี

10 มีนาคม 2561

วันที่ 8 มี.ค.ของทุกๆ ปี เป็นวันสตรีสากล (International Women’s Day) เป็นอีกวันหนึ่งที่น่าภาคภูมิใจและน่าจดจำของพลังผู้หญิง

โดย...ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ 

เนื่องจากเมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมาเป็นวันสตรีสากล วันนี้เลยขอคุยเรื่องหญิงๆ สักหน่อยนะคะ วันที่ 8 มี.ค.ของทุกๆ ปี เป็นวันสตรีสากล (International Women’s Day) เป็นอีกวันหนึ่งที่น่าภาคภูมิใจและน่าจดจำของพลังผู้หญิง เพราะความเป็นมาของวันนี้ มาจากหยาดเหงื่อและการสูญเสียชีวิตของกลุ่มสตรีหลายกลุ่มในอดีต ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมในการได้รับการปฏิบัติที่ดีขึ้นในการทำงานและค่าแรงงาน  

เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2400ที่รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าได้รวมตัวกันประท้วงขอให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ ต่อมาในวันที่ 8 มี.ค. 2450 คลาร่า เซทคิน นักการเมืองสตรีสายแนวคิดสังคมนิยม ชาวเยอรมันตัดสินใจปลุกระดมเหล่ากรรมกรสตรีด้วยการนัดหยุดงาน ในที่สุดในปี 2453 วันที่ 8 มี.ค.เช่นกัน ความพยายามของพลังสตรีก็ประสบความสำเร็จ ข้อเรียกร้องต่างๆ ได้รับการยอมรับ และได้เกิดวันสตรีสากลขึ้นตั้งแต่นั้นมา บรรดากรรมกรสตรีในยุคนั้นต่างได้รับรองการคุ้มครองด้านลดเวลาการทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง รวมถึงได้รับเวลาในการพัฒนาศักยภาพตนเอง เพื่อสร้างความก้าวหน้าในการทำงานได้ 

อย่างไรก็ตาม การรณรงค์บทบาทของสตรีในเวทีโลกยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง นั่นอาจมาจากจากสถิติที่หน่วยงานในประเทศต่างๆ ได้เก็บข้อมูลไว้ ซึ่งแสดงให้เห็นอัตราหรือสัดส่วนของผู้บริหารหญิงที่ยังคงมีน้อยกว่าผู้ชายอย่างเห็นได้ชัด สำหรับในประเทศไทย ถือว่าเป็นข่าวดีที่ในแวดวงธุรกิจ เรามีจำนวนผู้บริหารหญิงในระดับสูงไม่น้อยเลย โดยเฉพาะในระดับประธานคณะกรรมการบริหาร (CEO)

ในด้านความสามารถของผู้หญิงในฐานะเป็นผู้นำระดับสากล กลุ่มที่ปรึกษาองค์กร มาแชล โกลด์สมิทกรุ๊ป ใช้เวลากว่าห้าปีในการศึกษาด้านความสามารถเชิงสมรรถนะของผู้นำ ที่ไม่ว่าจะไปนั่งบริหารอยู่ที่ประเทศใดก็ตามมักมีความสำเร็จ (Transglobal Leadership Competency) สมรรถนะที่ศึกษารวมถึงคุณลักษณะทั้งในด้านทักษะ ความรู้ และพฤติกรรม ของบุคคล และได้เผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า 1 ใน 3 ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจเป็นผู้หญิง และได้พบว่า คำตอบของทั้งหญิงและชายแสดงถึงสมรรถนะในด้าน Transglobal Leadership เท่าๆ กัน โดยผู้หญิงมีข้อแตกต่างบางประการดังนี้

-ผู้หญิงมักประเมินความสามารถ ตนเองต่ำกว่าความเป็นจริง มากกว่าที่จะประเมินตนเองสูงกว่าความเป็นจริง

-ผู้หญิงมักตอบแทนคุณงามความ ดีของผู้อื่นแบบปรับรูปแบบตามใจผู้รับ มากกว่าที่จะให้แบบมาตรฐานเดียวกันหมด

-ผู้หญิงใช้การพัฒนาบุคลากรเป็น ฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันกลยุทธ์ มากกว่าใช้เทคโนโลยี

-ผู้หญิงมีความมั่นใจในคนที่มีค่านิยมร่วมกัน มากกว่ามองที่ว่าคนนั้นปฏิบัติการงานอย่างไร

-ผู้หญิงมักคาดการณ์การแสดงออก และการกระทำของคนไว้ก่อน แบบไม่รอประหลาดใจ

-lผู้หญิงมักให้ความเห็นอกเห็นใจ ถึงแม้งานจะออกมาไม่ตรงที่ต้องการ

-ในสถานการณ์ที่หนทางข้างหน้าไม่ชัดเจน ผู้หญิงมักแลกเปลี่ยนความรู้สึก หรือความไม่แน่ใจ ออกมา มากกว่าที่จะแสร้งรักษาภาพความสำเร็จของตนไม่ให้เสื่อมเสีย

ท้ายนี้ เมื่อพูดถึงสตรีที่น่าชื่นชมช่วงนี้ แล้วไม่พูดถึงสตรีในละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงกันอย่างมาก ก็จะดูตกเทรนด์ไปหน่อย

ดิฉันชื่นชมคุณสมบัติของผู้หญิงอย่างเกศสุรางค์ในร่างแม่หญิงการะเกด ในขณะที่เผชิญกับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เกศสุรางค์ในร่างแม่หญิงการะเกดพยายามเรียนรู้และปรับตัวกับขนบธรรมเนียมที่ไม่คุ้นชิน แต่ก็ไม่ได้ทิ้งตัวตนของตนเอง เช่น ความน่ารัก มีอารมณ์ขัน มองโลกในด้านดี มีความสนใจในความรู้ต่างๆ เมื่อพบกับความกดดันและความขัดแย้ง ก็ยังยิ้มได้เมื่อภัยมา กล้าหาญที่จะปกป้องผู้ที่อ่อนแอกว่า และกล้าที่จะพูดในสิ่งที่ถูกต้อง กล้าขอโทษเมื่อตนเองผิด เมื่อพบกับความเกลียดชัง กลับไม่โต้ตอบด้วยความเกลียดชัง แต่กลับให้อภัย มีความเข้าใจในธรรมชาติของคน ไม่ต้องสงสัยทำไมผู้ชมมากมายหลงรักเกศสุรางค์ในร่างแม่นางการะเกด

ผู้นำสตรีใดมีคุณสมบัติดีๆ ในตัวเช่นนี้ นอกจากมีความเป็นผู้นำที่ดีแล้ว ยังทำให้คนรอบๆ ตัวที่ทำงานด้วยมีความสุขไปด้วย และยังเป็นที่รักของคนจากทุกชาติ ทุกภาษาและวัฒนธรรมอย่างแน่นอนอีกด้วยนะออเจ้า...