posttoday

เปิดโมเดลธุรกิจบาวแดง สยายปีกต้นน้ำยันปลายน้ำ

06 มีนาคม 2561

คาราบาวกรุ๊ป ปรับรูปแบบการทำธุรกิจด้วยการขยับขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ ที่มีศักยภาพและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

โดย...วันเพ็ญ พุทธานนท์

ในภาวะที่ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศไทยมูลค่า 3-3.6 หมื่นล้านบาท อยู่ในภาวะขาลง โจทย์ใหญ่ของผู้ประกอบการในตลาดนี้ จึงอยู่ที่การมองหาและขยับขยายไปสู่ตลาดใหม่ๆ หรือธุรกิจใหม่ๆ ที่มีโอกาสเติบโตและสามารถสร้างรายได้เข้ามาทดแทนยอดขายที่หดหายไป ซึ่งบริษัท คาราบาวกรุ๊ป ก็มองเห็นแนวโน้มดังกล่าว และได้เริ่มปรับโมเดลธุรกิจครั้งใหญ่อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการขยายธุรกิจให้ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ

เสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารบริษัท คาราบาวกรุ๊ป หรือ CBG เปิดเผยว่า ในการทำธุรกิจต้องมองอนาคตอีก 10-20 ปีข้างหน้าว่าจะไปต่อยังไง แล้วปรับตัวเพื่อให้สามารถไปต่อได้ ซึ่งปัจจุบันตลาดเครื่องดื่ม ชูกำลังไม่เติบโตเพิ่มไปมากกว่านี้

ดังนั้น บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จึงต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจด้วยการขยับขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ ที่มีศักยภาพและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ทั้งนี้ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป ได้ขยับขยายและเติมเต็มธุรกิจให้มีความครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยต้นน้ำมีโรงงานผลิตสินค้าและโรงงานบรรจุของตัวเอง รวมถึงการจ้างโรงงานอื่นผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ของตัวเอง หรือกลุ่ม Own Brand ที่เริ่มจากกาแฟกระป๋องพร้อมดื่ม และล่าสุดมีบริษัท สหมิตร เป็นผู้ดำเนินธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคด้วยการว่าจ้างผลิต เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก เครื่องปรุงรส ปลากระป๋อง รวมถึงขนมขบเคี้ยว โดยตั้งเป้ารายได้จากโอนแบรนด์ 100-200 ล้านบาท ปีนี้

นอกจากนี้ จะเพิ่มไลน์สินค้าใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นสินค้าอุปโภคเป็นหลักจากปัจจุบันมีแล้วกว่า 10 รายการ โดยตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 200-300 รายการ ในอนาคต ซึ่งการมีแบรนด์สินค้าของ ตัวเอง มีหน่วยรถเงินสดมีบริษัทกระจายสินค้า และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำตลาด ทำให้สามารถขายสินค้าได้ถูกกว่าแบรนด์ทั่วไปถึง 20-30% อีกทั้งยังเป็นการเติมเต็มรถขนส่งสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขณะที่ธุรกิจกลางน้ำคือ โลจิสติกส์ นั้นดำเนินการภายใต้บริษัท ตะวันแดง ดีซีเอ็ม ซึ่งรับกระจายสินค้าทั้งในเครือ คาราบาวกรุ๊ป เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟกระป๋องพร้อมดื่ม เหล้า และสินค้าของบริษัท สหมิตร รวมไปถึงรับจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าให้บริษัทอื่นด้วย

"เราลงทุนไปกว่า 400 ล้านบาท ทำโลจิสติกส์และแคชแวนที่มีกว่า 300 คัน มีระบบหลังบ้านซัพพอร์ตถือเป็นสินทรัพย์สำคัญในการต่อยอดธุรกิจอื่นๆ อีกมาก" เสถียร กล่าว

ในส่วนของธุรกิจปลายน้ำนั้นมีร้านซีเจเอ็กซ์เพรสที่เป็นจุดขายในการเข้าถึงผู้บริโภค ซึ่งปีนี้ตั้งเป้ารายได้ 1.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มจาก 8,900 ล้านบาท ในปี 2560 และตั้งเป้าเปิดครบ 650 สาขา ในปี 2563 และมีกำไรเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาท ด้วยการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง

อีกโครงการสำคัญในส่วนของธุรกิจปลายน้ำคือ การพัฒนา 2.2 แสน ร้านค้าที่มีอยู่ โดยจะเริ่มจากการคัดเลือก 20% จากร้านค้าทั้งหมดมาทดลองทำโครงการนำร่อง ภายใต้ชื่อ "ถูกดี" นำหน้า เช่น ร้านถูกดีศรีสะเกษ ซึ่งบริษัทจะสนับสนุนโนว์ฮาวทั้งการบริหารจัดการร้าน การติดตั้งเครื่องพีโอเอสที่สามารถเช็กสต๊อก เป็นต้น เนื่องจากมองว่าหากร้านค้ารายย่อยอยู่รอดธุรกิจของบริษัทก็เติบโตเช่นกัน