posttoday

ไทยเบฟลุย หวังดันยอด ไม่ใช่น้ำเมา

23 กุมภาพันธ์ 2561

ไทยเบฟฯ สั่งเร่งยอดนันแอลกอฮอล์ หลังน้ำเมาโตก้าวกระโดดจากเทกโอเวอร์ ทุบสัดส่วนจาก 45% เหลือ 22% ของรายได้รวม

ไทยเบฟฯ สั่งเร่งยอดนันแอลกอฮอล์ หลังน้ำเมาโตก้าวกระโดดจากเทกโอเวอร์ ทุบสัดส่วนจาก 45% เหลือ 22% ของรายได้รวม

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เปิดเผยว่า หลังจากบริษัทได้เข้าซื้อหุ้นธุรกิจสุราจากแกรนด์ รอยัล กรุ๊ป และไซ่ง่อน เบียร์ แอลกอฮอล์ คอร์ปอเรชั่น (ซาเบโก้) ไปเมื่อช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา ส่งผลให้สัดส่วนรายได้จากธุรกิจแอลกอฮอล์เพิ่มเร็วขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 78% จากเดิมสัดส่วน อยู่ที่ 55% ของรายได้รวม โดยสัดส่วน รายได้ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ทำให้กลุ่มธุรกิจนันแอลกอฮอล์มีสัดส่วนจาก 45% เหลือ 22% ของบริษัท

ทั้งนี้ จากสัดส่วนรายได้ของธุรกิจนันแอลกอฮอล์ที่ปรับลดลงดังกล่าว ทำให้บริษัทต้องสั่งให้ธุรกิจนันแอลกอฮอล์ในเครือหันมาทำการตลาดมากขึ้น เพื่อสร้างรายได้ตามเป้าหมายปี 2020 สัดส่วนนันแอลกอฮอล์กับแอลกอฮอล์ต้องมีสัดส่วนรายได้เท่ากัน คือ 50:50

"จากสัดส่วนรายได้ที่ลดลง ถือเป็นภาวะของกลุ่มนันแอลกอฮอล์ที่ต้องผลักดันรายได้ให้ก้าวไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งที่ผ่านมาธุรกิจนันแอลกอฮอล์ก็สร้างรายได้ที่ดีมาโดยตลอด เช่น น้ำดื่มคริสตัล ซึ่งปัจจุบันสามารถขึ้นเป็นอันดับ 1 ของธุรกิจน้ำดื่มได้สำเร็จ" นายฐาปน กล่าว

ปัจจุบันบริษัทมีธุรกิจนันแอลกอ ฮอล์ที่อยู่ภายใต้การบริหาร 2 กลุ่ม หลัก คือ ธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจเครื่องดื่ม ซึ่งในส่วนของธุรกิจร้านอาหารที่สร้างรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่องคือ ร้านอาหารในเครือโออิชิ ขณะที่ธุรกิจเครื่องดื่มก็มีเครื่องดื่มโออิชิ 100 พลัส น้ำอัดลมเอส น้ำดื่มคริสตัล และน้ำดื่มช้าง เป็นต้น

นายฐาปน กล่าวอีกว่า แผนการดำเนินธุรกิจเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายปี 2020 ในอีก 3 ปีนับจากนี้ บริษัทจะเน้นไปที่การผลักดันธุรกิจในเครือให้มีรายได้โตอย่างต่อเนื่อง ด้วยการสร้างความหลากหลายในสินค้า ซึ่งการเข้าซื้อหุ้นและซื้อกิจการในธุรกิจที่มีศักยภาพถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการต่อยอดธุรกิจให้มีอัตราการเติบโต และก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการ ที่มั่นคงและยั่งยืน

สำหรับแผนดำเนินธุรกิจในปีนี้ เบื้องต้นบริษัทยังไม่มีแผนที่จะเข้าซื้อกิจการใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติม เนื่องจากปีที่ผ่านมาเพิ่งซื้อกิจการใหม่ไป 4 ธุรกิจ ดังนั้น บริษัทจึงอยากที่จะพัฒนาและต่อยอดธุรกิจดังกล่าวให้มีความมั่นคงและแข็งแรงก่อน ด้วยการนำเอาจุดแข็งของกันและกันมาพัฒนาเป็นกลยุทธ์การทำตลาด ซึ่งในส่วนของตลาดต่างประเทศ บริษัทจะให้ความสำคัญกับกลุ่มซีแอลเอ็มวี เพราะสามารถเชื่อมต่อธุรกิจระหว่างกันได้ง่าย ประกอบกับประเทศที่เข้าไปทำตลาดอย่างเวียดนามมีจีดีพีเติบโตสูงถึง 7% บริษัทจึงเล็งเห็นโอกาส