posttoday

ปูนใหญ่-ซีพีเอฟซุ่มใช้ ระบบ'ทริซ'คิดนวัตกรรม

13 กุมภาพันธ์ 2561

นอกจากซัมซุงจะใช้ทฤษฎีแก้ปัญหาเชิงประดิษฐ์คิดค้นทริซ (TRIZ) พัฒนาสินค้าแล้ว ในไทย ปูนใหญ่-ซีพีเอฟ ก็ทำเช่นกัน

โดย...ภูวดล โกมลรัตนเสถียร

แม้ที่ผ่านมากระแสตื่นตัวรับการเปลี่ยนยุคดิจิทัลจะเร่งให้เกิดการพัฒนาหุ่นยนต์ ระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ซึ่งหลายบริษัทองค์กรนำมาเพิ่มประสิทธิภาพ แต่ภาคธุรกิจก็ยังต้องมีการพัฒนาระบบบริหารจัดการ โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดการคิด วิเคราะห์ การตัดสินใจ และสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งจุดนี้หุ่นยนต์ หรือโรบอต ไม่สามารถมีทักษะที่จะเข้ามาทดแทนคนได้

ธนะศักดิ์ พึ่งฮั้ว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิอินเวนเตอร์ ดีเวลลอปเมนท์ ในฐานะผู้ให้บริการด้านการฝึกอบรมและให้คำปรึกษา โดยเฉพาะด้านนวัตกรรมผ่านเครื่องมือทริซ (TRIZ) เปิดเผยว่า แนวคิดทฤษฎีการแก้ปัญหาเชิงประดิษฐ์คิดค้น หรือ TRIZ จะเน้นการพัฒนาบุคลากร สร้างคุณค่าของคนให้เกิด ไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ และเพิ่มมูลค่ามากยิ่งขึ้น เพื่อนำความคิดมาพัฒนาต่อยอดในภาคธุรกิจให้เกิดประโยชน์ ซึ่งจะช่วยให้สามารถทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ หรือออกแบบ สร้างระบบการทำงานของโรบอต โดยไม่ต้องกังวลกับการเปลี่ยนผ่านของยุคดิจิทัล

จุดเด่นของทฤษฎีดังกล่าวที่นำมาพัฒนาบุคลากร จะเริ่มจากการสอนให้ตั้งโจทย์ เพื่อหาความขัดแย้งและเข้าไปแก้ปัญหาดังกล่าว ต่างจากแนวคิดของประเทศฝั่งตะวันตก เช่น หากอยากได้กระจกที่บางแต่แข็งแรงควรทำอย่างไร หรือการลดเวลาการปรุงอาหารให้สุกแต่ยังคงรสชาติที่อร่อย เป็นต้น

จากนั้นเมื่อหาความขัดแย้งได้ จะมีชุดเครื่องมือที่ช่วยในการกระตุ้นการคิดหาคำตอบ คือความคิดและไอเดียใหม่ที่เกิดขึ้นตอบโจทย์ความตอบขัดแย้ง ซึ่งในส่วนนี้แต่ละองค์กรจะมีโอกาสในการสร้างเครื่องมือ กระบวนการผลิต หรือนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้น

"เครื่องมือ TRIZ เข้ามาในไทยเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว โดย ผศ.ไตรสิทธิ์ เบญจบุณยสิทธิ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เป็นผู้ริเริ่มเผยแพร่ โดยจุดเด่นที่ต่างจากแนวคิดอื่นคือ ช่วยสร้างให้เกิดไอเดียใหม่ พัฒนานวัตกรรม ใหม่ และมุ่งวิธีคิดเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ" ธนะศักดิ์ กล่าว

สำหรับกลุ่มเป้าหมายคือ องค์กรที่ต้องการมีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่แตกต่าง องค์กรที่ต้องการลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่า 50% รวมถึงองค์กรที่ต้องการทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของตนเอง โดยองค์กรในไทยที่นำแนวคิดดังกล่าวเข้าช่วยพัฒนาบุคลากรเพื่อพัฒนาองค์กรแห่งนวัตกรรม ได้แก่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ ที่มีการฝึกสอนบุคลากรทั้งสองบริษัทรวมกว่า 1,000 คน ต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 7 ปี

ทั้งนี้ ในส่วนของซีพีเอฟตั้งเป้าว่าจากการนำระบบ TRIZ มาใช้จะช่วยเพิ่มสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรของซีพีเอฟ จากปัจจุบัน 150 ผลงาน ขึ้นเป็น 500 ผลงาน หรือกว่า 2 เท่าตัวใน 3 ปีหรือปี 2563

ขณะที่หลายประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะเกาหลี บริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น ซัมซุง ได้นำแนวคิดนี้พัฒนาสร้างบุคลากรเพื่อค้นคว้านวัตกรรมใหม่ ซึ่ง สิ่งสำคัญของ TRIZ คือความเข้าใจกลไกของปัญหา จะเป็นจุดที่สามารถระบุความขัดแย้งที่ชัดเจนได้ในการคิดค้นนวัตกรรม