posttoday

ราชาเงินกู้ สู่ราชาฟินเทค

11 กุมภาพันธ์ 2561

จากเริ่มต้นธุรกิจจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าเงินผ่อนสู่ราชาเงินกู้ และล่าสุด "เจ มาร์ท"กำลังขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อหวังก้าวสู่ราชาฟินเทคของไทย

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

จากจุดเริ่มต้นของคนไม่เคยมีอะไร แต่มีความกระหายที่ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง จากเริ่มต้นธุรกิจจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าเงินผ่อนสู่ราชาเงินกู้ และขณะนี้ “อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา” กำลังขับเคลื่อนธุรกิจเจ มาร์ท เพื่อหวังจะก้าวสู่ราชาฟินเทคของประเทศไทย

อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท เปิดเผยว่า การก้าวสู่ราชาฟินเทคเกิดขึ้นจากแนวคิดเมื่อปี 2560 กระแสฟินเทค หรือไฟแนนเชียล เทคโนโลยี (Financial Technology)เริ่มเข้ามามีบทบาทกับชีวิตคนไทยมากยิ่งขึ้น จึงต้องการเปลี่ยนระบบการกู้เงินแบบแมนนวลมาสู่การกู้เงินภายใต้การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน ภายใต้ บริษัท เจ เวนเจอร์ส (เจวีซี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของเจ มาร์ท ก่อตั้งเมื่อปีที่ผ่านมาด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท โดยวางบริษัทเพื่อเป็นการปล่อยกู้เจาะกลุ่มลูกค้าคนเมือง

จิ๊กซอว์อีกตัวหนึ่งที่สำคัญของธุรกิจไฟแนนซ์ของเจ มาร์ท ในขณะนี้ คือ บริษัท ซิงเกอร์ ซึ่งดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าระบบเงินผ่อน แต่เจ มาร์ท วางให้ซิงเกอร์เป็นระบบการปล่อยสินค้าฟินเทคที่จะเจาะกลุ่มเป้าหมายรากหญ้าหรือผู้มีรายได้น้อย เบื้องต้นเราได้สร้างแอพพลิเคชั่น เจ มันนี่(J Money) สำหรับผู้ที่ต้องการกู้ยืมเงินเพื่อเป็นระบบนิเวศของธุรกิจ และขณะนี้ยังวางแผนพัฒนาแอพพลิเคชั่นของกลุ่มไม่ต่ำกว่า 10 แอพพลิเคชั่น จากปัจจุบันมีราว 3 แอพพลิเคชั่นเท่านั้น อาทิ การจับมือร่วมกับดีแทค เปิดตัวแอพพลิเคชั่นใจดีให้ยืม ซึ่งเป็นบริการให้ยืมเงิน

“ผมมองว่า เจ มาร์ท กรุ๊ป ต้องเปลี่ยนและธุรกิจต้องก้าวสู่ดิจิทัลเทคโนโลยี ทำให้เราสามารถชนะเกมของการทำธุรกิจได้ เพราะเทคโนโลยีจะทำให้ธุรกิจของเราเข้าถึงกลุ่มคนได้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเฉพาะทุกคนที่มีโทรศัพท์มือถือและต้องการจะกู้ยืมเงินกับเรา ขณะที่กระบวนการปล่อยกู้บนเทคโนโลยีบล็อกเชนก็จะมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น อนุมัติภายในไม่กี่นาที ที่สำคัญเมื่อมองถึงค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนในการดำเนินการเท่ากับศูนย์ เจ มาร์ท ต้องการก้าวสู่ผู้นำฟินเทครายแรกของประเทศไทย ซึ่งในปี 2562 จะเห็นภาพของเจ มาร์ท ชัดเจนมากขึ้นสำหรับบทบาทดังกล่าวนี้”

อดิศักดิ์ กล่าวว่า การทำธุรกิจต้องมีความบ้า ต้องคิดและทำให้เร็ว เจ มาร์ท เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ออกมาประกาศระดมทุนผ่านเหรียญเจฟินคอยน์ (Initial Coin Offering : ICO) ถามว่าทำไมถึงไม่ไปเข้าตลาดสิงคโปร์ที่เปิดรับ แต่เราเลือกทำตลาดในไทยเพราะถ้าสำเร็จเงินก็อยู่ในประเทศ เจฟินคอยน์เป็นไอซีโอน้ำดี ที่มีคุณภาพและจะเป็นแบบอย่างให้สตาร์ทอัพอื่นๆ ของประเทศที่ต้องการเข้ามาทำธุรกิจฟินเทค ผมเอาเจ มาร์ท กรุ๊ป ที่ปลุกปั้นมา 28 ปี เป็นเดิมพัน ซึ่งขณะนี้ต้องรอกฎหมายต่างๆ ของไทยออกมาให้มีความชัดเจนก่อน

ราชาเงินกู้ สู่ราชาฟินเทค

หัวใจการทำธุรกิจคือ แตกแล้วโต

ภายใต้ 5 กลุ่มธุรกิจหลักย้อนไปในอดีตกว่าจะมาเป็น เจ มาร์ท ได้นั้น แรกเริ่มเดิมทีเป็นพนักงานในบริษัทเอกชน อยู่ใน บริษัท ทิสโก้ ดูแลงานด้านบริหารหลักทรัพย์มาร่วม 2 ปี จากนั้นก็ย้ายมาทำงานทางด้านการตลาดของ บริษัท ฟิลิปส์ ซึ่งดำเนินธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้ามา 7 ปีเต็ม จึงเป็นที่มาของการเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า กระทั่งตัดสินใจลาออก เพราะความกระหายและความไม่เคยมีธุรกิจของตัวเองและอยากให้มี มองเห็นโอกาสธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กำลังเฟื่องฟู ยึดโมเดลธุรกิจของซิงเกอร์ที่คลาสสิกสุดๆ และเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จมาก เปิดร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าระบบเงินผ่อนด้วยเม็ดเงินลงทุน 2 ล้านบาท

ก่อร่างสร้างตัวได้ด้วยธุรกิจขายเครื่องใช้ไฟฟ้าระบบเงินผ่อนมาร่วม 5 ปี มีสาขาทั้งสิ้น 3 สาขา ก็มีสถานการณ์ให้ต้องเปลี่ยนไป เมื่อเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา และมองว่าจะกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิตมนุษย์ก็คือ โทรศัพท์มือถือ การมองเห็นโอกาสและการพลิกธุรกิจให้ทันกับกระแสหรือความต้องการของตลาด เปิดร้านค้าปลีกจำหน่ายโทรศัพท์มือถือเจ มาร์ท ขึ้น ขณะที่ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าระบบเงินผ่อนก็เอาพนักงานเป็นคนเก็บหนี้ ซึ่งก็เป็นที่มาของการทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อ กระทั่งปี 2549 เริ่มมีแนวคิดซื้อหนี้เข้ามาบริหาร ภายใต้ เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (เจเอ็มที) มูลค่าหนี้ในพอร์ตทั้งหมดกว่า 1.2 แสนล้านบาท ภายใต้การใช้เงินลงทุน 6,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ด้วยจังหวะและโอกาสของกลุ่มเจ มาร์ท เพื่อเข้าไปทำธุรกิจร้านค้าปลีกมือถือ ไฮเปอร์มาร์เก็ต บิ๊กซี จะหยิบยื่นโอกาสให้ทางเราเข้ามาบริหารพื้นที่ค้าปลีก ใช้ชื่อว่า  IT Junction ศูนย์มือถือครบวงจร ภายใต้ บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท และก็แตกธุรกิจไปสู่อสังหาริ มทรัพย์ ประเดิมด้วยโครงการคอนโดมิเนียม นิวอีร่า ธุรกิจค้าปลีก เดอะแจ๊ส ศูนย์การค้าชุมชน เป็นต้น ซึ่งในอีก 3 ปีข้างหน้า ธุรกิจทางไฟแนนซ์ของบริษัทจะกลายเป็นพระเอกที่สร้างรายได้หลักให้กับกลุ่มถึง 50% ส่วนธุรกิจมือถือที่เคยสร้างรายได้หลักให้กับบริษัทจาก 90% เหลือเป็น 50%

ราชาเงินกู้ สู่ราชาฟินเทค

อย่างไรก็ดี 3 ปีข้างหน้า อดิศักดิ์ ราชาฟินเทคจะส่งไม้ต่อกับทายาท “เจ-เอกชัย สุขุมวิทยา” ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับบริษัทในเครือเจ มาร์ท เพื่อเรียนรู้งานต่างๆ มาแล้วหลายแห่ง ก่อนที่เขาจะรับมอบหมายให้เข้ามาดำรงตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนต่อไป สิ่งที่ให้แนวทางการทำธุรกิจกับลูกชาย คือ ต้องมีคุณธรรม ทำทุกอย่างถูกต้อง ห้ามทุจริต อย่าเห็นแก่ตัว และไม่รู้จักพอ และสำคัญที่สุด คือใจสู้ ผมเริ่มต้นจากเงินลงทุน 2 ล้านบาท ก่อนที่เจ มาร์ท จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ปัญหาของการทำธุรกิจคือ การเงินที่ขาดมือมาตลอด แต่เราใช้หลักการบริหารจัดการที่ดีถึงมีวันนี้ได้ โดยมีรายได้มากกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท

อนาคตของเจ มาร์ท กรุ๊ป จะไปไกลแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับทีมงานทุกคน และท้ายที่สุดความหวังของ ”เจ มาร์ท” จะกลายเป็นหนึ่งในแบงก์ของไทยได้หรือไม่นั้น อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับบุญวาสนา เราไม่ได้แข่งหรือเอาตัวเปรียบเทียบว่าเป็นเหมือนธนาคาร แต่เราหวังว่าเจ มาร์ท จะเป็นธนาคารสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ส่วนในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ วางเป้าหมายรายได้ของกลุ่มเจ มาร์ท แตะ 5 หมื่นล้านบาท